บ๊อบไม่หวั่น น้องณัชชา ลูกสาว โดน วิจารณ์
กรณีมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเกี่ยวกับ "เหล่าคนดังวัยเยาว์" โดยเฉพาะกับบรรดาลูกๆ ของดาราหรือคนในวงการต่างๆ เพราะการทำให้เด็กมีชื่อเสียงตั้งแต่ยังเล็ก อาจถูกกระแสสังคมวิจารณ์อย่างหนัก และจะทำให้เด็กรับมือกับสถานการณ์ไม่ไหว
ล่าสุด "เดลินิวส์ออนไลน์" มีโอาสได้เจอะเจอกับ "พ่อบ๊อบ-ณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์" พ่อของน้อง "ณัชชา-ณัชชาวีณ์ โกศลพิศิษฐ์" เจ้าของวลีเด็ด "ดูปากณัชชานะคะ" หนูน้อยที่ดูเก่งและฉลาด กล้าแสดงออก มีการพูดจาที่ฉะฉาน และมีบุคลิกที่ดูเป็นผู้ใหญ่เกินวัย จนถูกวิจารณ์อย่างไม่เหมาะสมอยู่บ่อยครั้ง ถึงขนาดตำหนิว่า มีการจัดสคริปต์ให้เด็กเป็นแบบนี้ ในเรื่องนี้ "พ่อบ๊อบ-ณัฐธีร์" เปิดเผยว่า ตนไม่ห่วงกระแสสังคมด้านลบที่เกิดขึ้นกับ 'ณัชชา' เท่าไหร่นัก เพราะการที่ 'ณัชชา' อยู่บนเวทีหรือตามหน้าจอต่างๆ นั่นคือตัวตนของน้อง 'ณัชชา' เป็นเด็กฉลาด และมีบุคลิกที่ดูเป็นผู้ใหญ่ เราไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงให้น้องเป็นในแบบที่เราอยากให้เป็น ซึ่งใครที่รู้จัก จะรู้ว่านี่คือนิสัยของ 'ณัชชา' อยู่แล้ว และสิ่งที่ 'ณัชชา' ทำอยู่ เป็นสิ่งที่ชอบ ปกติก็เล่นเหมือนเด็กทั่วไป 'ณัชชา' รู้ว่าตัวเองมีสองบทบาท เวลาอยู่บ้านหรือโรงเรียน ก็เหมือนเด็กทั่วไป ชอบเล่นกับเพื่อน เล่นดนตรี หรืองานศิลปะ แต่เวลาที่น้องทำอีกหน้าที่หนึ่ง น้องก็ตั้งใจเพราะเป็นสิ่งที่น้องชอบ น้องอยากทำ
"เราในฐานะพ่อ-แม่ ก็ต้องคอยดูแล เอาใจใส่ แนะนำลูกในสิ่งที่เขาไม่เข้าใจ เราถาม 'ณัชชา' ตลอดว่า แบบนี้มากไปไหม น้อยไปไหม หรือพอดีแล้วเกี่ยวกับการแสดงออกของน้อง พ่อ-แม่ก็ให้คำแนะนำและดูแลตลอด งานที่ 'ณัชชา' รับ ก็มีไม่มาก ตามกำลังของน้อง 'ณัชชา' เองก็รู้สึกดีที่มีแฟนคลับมาติดตาม มาให้กำลังใจ ทำให้เขามีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น มีบ้างที่รู้สึกเหนื่อย แต่มีความสุขมากกว่า"นายณัฐธีร์กล่าว
ด้านพ.ญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สำหรับเด็กที่เป็นบุคคลสาธารณะ ผู้ปกครองจะต้องพยายามรักษาพื้นที่ความเป็นส่วนตัวให้เด็กใช้ชีวิตอย่างสมวัย ไม่ผลักดันให้เด็กออกพื้นที่สาธารณะมากเกินไป เพราะนั่นอาจทำให้เด็กคิดว่า เขาจะต้องปรากฎตัวอยู่ตลอดเวลา และเด็กจะถูกสื่อจับจ้อง ทำให้เสียเวลาที่เป็นไปตามวัย เช่น การเล่นสนุก การใช้ชีวิตกับเพื่อนวัยเดียวกัน หากเด็กรู้สึกไม่มีความสุขจากสิ่งที่ถูกยัดเยียดให้อาจเกิดภาวะซึมเศร้าได้ เพราะฉะนั้น "ครอบครัว" คือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็ก ต้องเข้าใจอารมณ์ของเด็ก และพร้อมจะจัดการทุกปัญหาให้เขา ทุกอย่างต้องดูความเหมาะสม ไม่บังคับหรือกดดันมากเกินไป ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กในอนาคต.
https://www.facebook.com/teeneedotcom