สรุปดราม่าเมียจำเป็น ทำโซเชียลร้อนระอุ ถึงขั้นขอแบน #ข่มขืนผ่านจอพอกันที
เกิดกระแสดราม่าวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กับละคร 'เมียจำเป็น' กรณีบทละครประเด็น ข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ ส่งผลให้แฮชแท็ก #แบนเมียจำเป็น #ข่มขืนผ่านจอพอกันที พุ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์ ข้ามวันข้ามคืน
ล่าสุดเพจเฟซบุ๊ก Poetry of Bitch ได้สรุปที่มาที่ไป สาเหตุที่ทำชาวเน็ตหัวร้อน จนถึงขั้นประกาศแบน
"เมียจำเป็น" กับฉากที่กลายเป็นดราม่า
1- ละครเรื่อง "เมียจำเป็น" เป็นละครของค่ายดีวันทีวี ผู้จัดคือ "น้อง พรสุดา" สร้างจากบทประพันธ์ของ "เข็มขาว" เขียนบทโทรทัศน์โดย "พิง ลำพระเพลิง" ออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3
2- เนื้อหาเป็นเรื่องราวของหญิงสาวชื่อ "ตะวัน" (พาย รินรดา) ที่มีเหตุตกกระไดพลอยโจนให้ต้องสวมรอยเป็นคนอื่น เพื่อแต่งงานกับ "โตมร" (ไม้ วฤษฎิ์) ลูกชายเศรษฐีปักษ์ใต้ ก่อนที่ทั้งคู่จะตกหลุมรักกันจริง ๆ
3- อีพีแรก ๆ ของละครเรื่องนี้ฟีดแบกจัดว่าดี เพราะเอาเรื่องดราม่ามาทำให้เป็นคอมิดี้ได้น่าสนใจ เคมีพระนางดี รวมทั้งการเขียนให้พระเอกนางเอกเป็นติ่งละครทีวี ถึงขั้นที่พระเอกชอบก๊อปคาแรกเตอร์พระเอกละครมาใช้ในชีวิตจริง ก็ทำให้เอื้อต่อการเล่นมุกต่าง ๆ
4- แต่ดราม่ามาบังเกิดในอีพี 8 และ 9 เมื่อคนงานที่โกรธแค้นพระเอกจับตัวนางเอกไปกักขังเพื่อข่มขืน (สุดท้ายนางเอกไม่ได้ถูกข่มขืน แต่คนร้ายทำให้ทุกคนเข้าใจว่าเธอถูกข่มขืน)
5- เมื่อนางเอกได้รับการช่วยเหลือและนำตัวส่งโรงพยาบาล นางร้ายซึ่งตามมาเยาะเย้ยนางเอกถึงเตียงก็ถามนางเอกว่า "โดนไปกี่ดอก" ส่วนแม่นางร้ายพูดว่า "ที่แกถูกรุมโทรมเนี่ย ดูจากลักษณะแล้วไม่น่าจะโดนคนเดียวหรอก"
6- ต่อด้วยฉากที่พระเอกแสดงท่าทีรับไม่ได้หรือรังเกียจนางเอกเพราะคิดว่าเธอถูกข่มขืน นางเอกอ้าแขนรอให้พระเอกมากอดมาปลอบ แต่พระเอกกลับทำเมินและไม่ยอมแตะเนื้อต้องตัวเธอ เหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของเธอ
7- สองซีนนี้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือด เพราะคนมองว่าเป็นการตอกย้ำค่านิยมกล่าวโทษเหยื่อ (Victim Blaming) ทั้งที่นี่ก็ปี 2021 แล้ว ละครที่สร้างค่านิยมเช่นนี้ไม่ควรถูกผลิตอีก
- มุมมองของผู้จัดละคร
8- น้อง พรสุดา เคยพูดถึงฉากนางเอกถูกลักพาตัวและเกือบถูกข่มขืนเอาไว้ว่า ฉากนี้ต้องการทำให้สมจริง เพื่อให้ผู้หญิงดูแล้วตะหนักว่าการถูกลักพาตัวและการถูกทำร้ายเป็นเรื่องน่ากลัว ดังนั้นผู้หญิงต้องใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง
9- แต่หลายคนไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดนี้ กลับเห็นตรงข้ามว่า สิ่งที่ละครควรทำคือการสอนผู้ชายว่าไม่มีใครสมควรถูกข่มขืนต่างหาก อีกทั้งผู้หญิงหลายคนที่ตกเป็นเหยื่อก็ระมัดระวังตัวที่สุดแล้ว หรือบางครั้งเหยื่อเป็นเด็กเล็ก ๆ ด้วยซ้ำ ดังนั้นทัศนคตินี้จึงไม่ถูกต้อง
10- ในขณะที่ทวิตเตอร์ของบริษัทดีวันทีวี ทวิตว่าอีพีหน้าพระเอกจะสำนึกผิดและปรับปรุงตัวแล้ว ขอให้แฟนละครให้อภัยในพฤติกรรมที่ผ่านมาของเขาด้วย
-เมื่อนักแสดงไม่เห็นด้วยกับตัวละคร
11- ต่อมาไม้ วฤษฎิ์ ได้โพสต์ในทวิตเตอร์และอินสตาแกรมว่า เปิดพื้นที่ให้ทุกคนต่อว่าโตมรได้เต็มที่ รวมทั้งไม้เองก็ต่อว่าตัวละครของเขาด้วย
12- มีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก และมีบางส่วนบอกว่าอยากให้ไม้และนักแสดงคนอื่น ๆ เลือกรับละครให้มากกว่านี้ หากเห็นว่ามีบทที่ไม่สร้างสรรค์ ฉุดสังคมให้ต่ำลงก็ไม่ควรรับเล่น
13- ในขณะเดียวกันก็มีคนตั้งคำถามอีกมุมหนึ่งว่า บทละครแต่ละเรื่องได้รับความเห็นชอบจากนักแสดงหรือไม่ นักแสดงมีสิทธิ์ออกความเห็นหรือไม่ สามารถปฏิเสธบทโดยไม่ส่งผลต่ออาชีพได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนักแสดงคนนั้นไม่ใช่เบอร์ใหญ่ของช่อง และในกรณีเช่นนี้ สังคมจะทอดทิ้งนักแสดงที่ออกความเห็นหรือไม่
-บทข่มขืนที่บิดเบี้ยวในละครไทย
14- ทั้งหมดนี้ส่งให้แฮชแท็ก #แบนเมียจำเป็น และ #ข่มขืนหน้าจอพอกันที ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 และ 2 ของทวิตเตอร์ประเทศไทย
15- โดยเฉพาะประเด็นการข่มขืนในละคร ที่พบว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่สร้างขึ้นเพื่อตอกย้ำค่านิยมบิดเบี้ยว วัฒนธรรมที่ล้าหลัง และส่งเสริมค่านิยมชายเป็นใหญ่
16- เช่น บางเรื่องเขียนบทให้พระเอกข่มขืนนางเอก บ้างทำไปเพื่อแก้แค้น บ้างทำเพราะเข้าใจว่านางเอกเป็นผู้หญิงไม่ดี บ้างทำเพราะหึงหวง บ้างอ้างว่าข่มขืนเพราะรัก แล้วสุดท้ายก็เขียนบทให้นางเอกหลงรักนักข่มขืน ยิ่งไปตอกย้ำให้ผู้ชายคิดว่าข่มขืนไปก่อนเดี๋ยวผู้หญิงก็รักเอง
17- หรือบางเรื่องเขียนบทให้นางร้ายได้รับกรรมหรือถูกลงโทษด้วยการถูกข่มขืน ถูกรุมโทรม โดยหลงลืมประเด็นที่ว่า "ไม่มีใครสมควรจะถูกข่มขืนทั้งนั้น"
18- ดังนั้นคนดูจึงเรียกร้องว่า บทลงโทษของนางร้ายในละครต้องไม่ใช่การถูกข่มขืน ผู้ชายที่ข่มขืนผู้หญิงต้องไม่ได้เป็นพระเอก และต้องไม่จบด้วยการให้เหยื่อมาตกหลุมรักคนที่ข่มขืนเธอ
19- เพราะในความเป็นจริง การถูกข่มขืนคือฝันร้ายของเหยื่อ บางคนไม่สามารถตื่นจากฝันร้ายนั้นได้อีกเลย บางคนเจ็บปวดทรมานไปตลอดชีวิต บางคนเป็นโรคซึมเศร้า บางคนรู้สึกไร้ค่า หรือบางรายอาจถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย
-ฉากข่มขืนเพื่อสะท้อนสังคม
20- แต่ไม่ได้หมายความว่าละครห้ามมีฉากข่มขืน ฉากข่มขืนในละครบางเรื่องมีเพื่อสะท้อนสังคม หรือเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคม ไม่ใช่การเอาเรื่องข่มขืนมาทำเป็นเรื่องตลกหรือเรื่องโรแมนติก
21- ยกตัวอย่างเช่น ละครเรื่อง "ล่า" ที่พูดถึงภาวะทางจิตของเหยื่อได้อย่างลึกซึ้ง แสดงชะตากรรมที่เหยื่อต้องเผชิญ และสะท้อนความไม่เป็นธรรมของกฎหมาย จนแม่ของเหยื่อต้องออกมาทวงความยุติธรรมด้วยตัวเอง
เครดิตแหล่งข้อมูล : FB Poetry of Bitch
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- จี้ กสทช.เอาผิด แพร่ฉากข่มขืนในเมียจำเป็น ผลิตซ้ำมายาคติ บ่มเพาะความรุนแรง
- เมียจำเป็น บทพิสูจน์ ยิ่งด่ายิ่งดัง!เรตติ้งกระฉูดดฉุดไม่อยู่แล้ว
- ยิ่งด่ายิ่งดัง!! เมียจำเป็น ฟาดเรียบทั้งเรตติ้ง ทั้งยอดวิว
- ดร.เสรี วิเคราะห์จัดเต็ม กระแสดราม่า #แบนเมียจำเป็น
- ไม้ วฤษฎิ์ เปิดพื้นที่ให้ด่า เจอทัวร์ลงยับ นางเอกในจอ-นอกจอ ขอผสมโรง?
- เพจดังซัดเกินจะรับได้ บทพระเอกเมียจำเป็น รังเกียจเมียตัวเองที่ถูกล่วงละเมิด
- เมียจำเป็น ยิ่งด่ายิงเปรี้ยง! คนดูสาปพระเอก ค่ายวอนอย่าเพิ่งตัดสิน
- ดราม่ามาเยือน! แฟนละคร ไม่โอเค เมียจำเป็น มีฉากข่มขืน-ขู่อัดคลิปประจาน
>> ดูทั้งหมด :ดราม่า #แบนเมียจำเป็น
https://www.facebook.com/teeneedotcom