หลังจากนั้นเป็นต้นมา เรรินก็เริ่มพบกับเรื่องราวประหลาด เธอเริ่มฝันถึง ชายหนุ่มปริศณาที่มาพบเธอด้วยท่าทีเป็นมิตร แต่กลับไม่ยอมบอกว่าชื่ออะไร เป็นใครมาจากไหน พร้อมกับเรื่องราวของเจ้าของผ้าโบราณผืนนั้น ที่เธอทราบต่อมาว่า เธอคือ เจ้าหญิงมะณีริน อดีตเจ้านางเมืองเชียงใหม่ ที่ถูกส่งตัวมาเพื่ออภิเษกสมรสกับ เจ้าศิริวัฒนา เพื่อความสัมพันธ์ทางการเมือง เจ้าศิริวัฒนา นั้นตกหลุมรัก เจ้าหญิงมะณีรินอย่างจริงจัง ขณะที่เจ้าหญิงมะณีริน กลับไปหลงรัก เจ้าชายศิริวงศ์ พระอนุชาของเจ้าชายศิริวัฒนา นั่นทำให้รักของเธอกลายเป็น รักต้องห้าม
หม่อมบัวเงิน ที่เป็นหม่อมใน เจ้าศิริวัฒนาอยู่ก่อน ไม่พอใจในการมาของเจ้ามะณีริน เธอกับหญิงรับใช้ วางแผนที่จะกำจัด เจ้ามะณีรินให้พ้นทาง แต่เหตุการณ์กลับผิดคาด เมื่อเจ้าศิริวงศ์ กลับเป็นฝ่ายที่ต้องเสียชีวิตลงในแม่น้ำโขง เจ้ามะณีรินเสียใจมากกับการจากไปของ เจ้าศิริวงศ์ เธอเฝ้าแต่เก็บตัวทอผ้าทั้งวันทั้งคืน โดยไม่ยอมรับประทานอาหาร อีกทั้งยังโดนกลั่นแกล้งจาก หม่อมบัวเงิน ในที่สุดเธอได้เสียชีวิตลงก่อนที่จะทอผ้าเสร็จ
เรริน เริ่มปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งจากคำบอกเล่าของ ชายหนุ่มปริศณายามรัตติกาล จากสมุดบันทึก จากคนร่วมยุคสมัยนั้น ทำให้เข้าใจได้ว่า ที่แท้เธอก็คือ เจ้าหญิงมะณีริน ที่มาเกิดใหม่ สุริยวงศ์ ก็คือ เจ้าศิริวงศ์ และ ชายหนุ่มปริศณาคนนั้นก็คือ เจ้าศิริวัฒนา วิญญานยังไม่ยอมไปไหน แต่ยังคงวนเวียนอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่เก็บผ้าโบราณผืนนั้นนั่นเอง เพียงเพื่อรอการกลับมาของเจ้าหญิงมะณีริน พร้อมคำว่า “ให้อภัย”
“พงศกร” ยังคงใช้แนวทางเดิมในการนำเสนอเรื่อง “รอยไหม” นั่นคือ โศกนาฏกรรมรักในอดีต ที่นำมาสู่เรื่องราวโรแมนติก ในปัจจุบัน ซึ่งเนวทางนี้เข้ากันได้ดีกับสไตล์การเขียนของ พงศกร ที่นุ่มนวล งดงาม ชวนฝัน ที่พร้อมจะชักชวนผู้อ่านให้ตกอยู่ในห้วงแห่งอารมณ์ โรแมนติกระคนเศร้า
พร้อมกันนั้น เขาก็ยังคงผสานระหว่างเรื่องทาง วิทยาศาสตร์ กับ ไสยศาสตร์ เข้าด้วยกันอย่างลงตัว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ เรริน ถึงแม้จะฟังดูเป็นเรื่องราวเหนือธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็สะท้อนมุมมองทางด้านวิทยาศาสตร์ไปพร้อมกัน ในแบบสุดแล้วแต่คุณผู้อ่านจะตีความ
ที่ยังคงเป็นลักษณะเด่นในงานของเขาก็คือ การศึกษาข้อมูลอย่างลงลึก และนำมาใส่ไว้ในเนื้อหาอย่างแนบเนียน ที่จะทำให้ผู้อ่านพลอยตื่นตาตื่นใจไปกับข้อมูลรอบด้านของชาวลาว ทั้งในเรื่องของ ศิลปะวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกิน ภาษา เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ฯลฯ
และด้วยความที่ผู้เขียนเป็น นายแพทย์ จึงมักจะนำเอา โรคใหม่ๆ มาแนะนำเพื่อเป็นความรู้ผ่านนวนิยายอีกด้วย ใน “สาปภูษา” นางเอกถูกวิเคราะห์ว่าอาจจะเป็นอาการของ โรคบุคคลิกแปลกแยก กับอาการที่เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เหมือนมีหลายคนในคนเดียว
มาในเรื่องนี้ ผู้เขียนพาผู้อ่านไปรู้จักกับ “โรคRupture RVM" ที่ระบุว่า เป็นโรคที่มีอาการใกล้เคียงกับ โรคไมเกรน ที่เราคุ้นเคยกันดี แต่โรคนี้มีรายละเอียดที่แตกต่างกว่านั้น มีการระบุว่า อาจมีอาการหูแว่ว เหมือนมีภูติผีปีศาจ มีวิญญานที่มองไม่เห็น ได้ยินเสียงคนมาพูดด้วย เหมือนคนเป็นโรคจิต คิดคนเดียว พูดคนเดียว ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับ เรริน เช่นกัน
นวนิยายเรื่องนี้ เหมือนทัวร์นำพาคุณผู้อ่านไปสัมผัสกับ จิตวิญญานของ ชาวลาว จิตวิญญานของ เมืองหลวงพระบาง ด้วยความคารวะ ซึ่งเป็นความรู้สึกเดียวกับผม ที่เห็นและรู้สึกมาตลอด ในฐานะ “ประเทศเพื่อนบ้าน” ประเทศลาว คนลาว เป็นเหมือนเพื่อนพี่น้อง ที่แสนดี และ น่ารัก มาตลอด เป็นเหมือนเพื่อนสนิทที่ ซื่อๆ จริงใจ มีน้ำใจ ขณะที่ประเทศเรากำลังถูกกลืนกินทางวัฒนธรรมจากต่างชาติ ทั้ง ฝรั่ง เกาหลี ญี่ปุ่น แต่ที่ลาว พวกเขายังคงรักษา รากเหง้า เอาไว้อย่างงดงาม น่านับถือ
https://www.facebook.com/teeneedotcom