หวั่นลูกหลานเลียนพฤติกรรม ด้าน "นิพิฏฐ์" รับลูก ประสานรมต.ประจำสำนักนายกฯ แตะเบรกลดกระแสคำพูดไม่เหมาะสม ด้านผู้จัดยันหยิบยกเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงมาตีแผ่ เผยสุดท้ายตัวละครไม่มีความสุขในบั้นปลาย ส่วน "ชมพู่" อารยา ยันละครมีสาระ สะท้อนอะไรหลายอย่าง
เรยาแรงร้องวธ.หยุดฉายดอกส้มสีทอง
หวั่นลูกหลานเลียนพฤติกรรม ด้าน "นิพิฏฐ์" รับลูก ประสานรมต.ประจำสำนักนายกฯ แตะเบรกลดกระแสคำพูดไม่เหมาะสม ด้านผู้จัดยันหยิบยกเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงมาตีแผ่ เผยสุดท้ายตัวละครไม่มีความสุขในบั้นปลาย ส่วน "ชมพู่" อารยา ยันละครมีสาระ สะท้อนอะไรหลายอย่าง
กระแสความร้อนแรงของละครเรื่อง "ดอกส้มสีทอง" ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเป็นเมียน้อย และชอบแย่งสามีชาวบ้านของ "เรยา" ตัวละครเอกของเรื่อง ที่นำแสดงโดย "ชมพู่" อารยา เอ ฮาร์เก็ต กำลังถูกจับจ้อง และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความไม่เหมาะสมของเนื้อหาในละครที่ส่อไปในทางหมิ่นเหม่ต่อการทำลายสถาบันครอบครัว อีกทั้งยังเกรงว่า บทบาทของ "เรยา" ที่มีความอยากได้ใคร่มีโดยไม่คำนึงถึงสิ่งถูกต้อง อาจเป็นตัวเร่งชักจูงให้วัยรุ่นที่เป็นหญิงสาวกล้าลอกเลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าวได้
ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 เมษายน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวถึงกรณีมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ละครดังที่กำลังออกอากาศขณะนี้มีเนื้อหาและพฤติกรรมการแสดงในลักษณะไม่เหมาะสม หมิ่นเหม่ต่อการทำลายสถาบันครอบครัวว่า ไม่เคยดูละครเรื่องนี้ แต่มีหลายคนมาเล่าให้ฟัง จึงเปิดเว็บไซต์เพื่อตรวจสอบ พบว่ามีการตั้งกระทู้ถึงละครเรื่องนี้หลายหัวข้อ พร้อมทั้งแสดงความเห็นจำนวนมากในบทบาทของนักแสดงที่มีคำพูดรุนแรงเกินไป
"ผมจะประสานรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสื่อ ขอให้ลดบทไม่เหมาะสมและคำพูดที่รุนแรงเกินไป เพราะปัญหาอยู่ที่เป็นละคร การพูดและการแสดงซ้ำๆ จะเป็นการตอกย้ำให้เกิดการทำตาม โดยเฉพาะเด็ก ที่อาจจะซึมซับพฤติกรรมและคำพูดได้โดยไม่รู้ตัว แม้ตอนจบของละครอาจจะมีข้อสรุปที่ดี แต่เนื่องจากเวลานี้เนื้อหาของละครถึงร้อยละ 95 เน้นไปที่นักแสดงหญิงที่ต้องการอยากได้ใคร่มี โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ศีลธรรมอันดีงาม ฉะนั้นก็ควรลดลงบ้าง"
นายนิพิฏฐ์กล่าวต่อว่า อยากจะขอความร่วมมือสถานีโทรทัศน์แต่ละช่อง โดยเฉพาะช่องที่มีละครเนื้อหาสุ่มเสี่ยงต่อพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆ ให้ช่วยกันดูแล และควบคุมสาระเนื้อหาของละครไม่ให้มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในด้านเพศ ภาษา และความรุนแรง เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนเพื่อเป็นการร่วมกันปกป้องสังคมและเยาวชนของชาติร่วมกัน
น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสายด่วนวัฒนธรรม 1765 ว่า
เมื่อช่วงกลางดึกวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา มีพ่อแม่ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปร้องเรียนมาที่สายด่วน 1765 เป็นจำนวนมากว่า ได้ชมละครหลังข่าวเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” มีเนื้อหาไม่เหมาะสมต่อเด็กและเยาวชน มีความรุนแรงมากตั้งแต่เริ่มฉายตอนแรก เมื่อมาถึงตอนที่ฉายในเมื่อคืนวันที่ 27 เมษายน ยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จะทำอย่างไรที่กระทรวงวัฒนธรรมจะประสานงานให้สถานีโทรทัศน์รับทราบ และพิจารณาในเรื่องการนำเสนอ การแสดงออกของตัวแสดง หรือไม่นำเสนอเรื่องราวเหล่านี้มากเกินไป จะเป็นเรื่องที่ดีมาก หากเป็นไปได้ก็ไม่อยากให้เผยแพร่อีกต่อไป เพราะเด็กบางคนยังไม่ยอมนอนมานั่งดูกับพ่อแม่ แม้พ่อแม่จะบอกว่าเป็นละคร แต่เด็กยังเห็นภาพพฤติกรรมของ “เรยา” ตัวละครเอกของเรื่องออกมากรี๊ดๆ ไม่เคารพแม่ กลัวลูกเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าวกับพ่อแม่ และไม่อยากให้ลูกเห็นภาพบทความรักระหว่างผู้หญิงคนนี้ที่รักกับผู้ชายไปเรื่อยๆ ไม่อยากให้เด็กดู
“กระทรวงคงทำอะไรไม่ได้ เพราะสถานีโทรทัศน์แต่ละช่องมี กบว.ดูแล และเขาได้ทำถูกต้องตามคือจัดเรต น.13 บวก เด็กและเยาวชนมีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไปดูได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การแนะนำของผู้ปกครอง และออกอากาศหลังข่าว ทางผู้ผลิตได้ถ่ายทำเรื่องนี้ไปแล้ว แต่สิ่งที่กระทรวงเป็นห่วงคือ การนำละครเรื่องดังกล่าวมาเผยแพร่ต่อทางอินเทอร์เน็ตที่เด็กสามารถเปิดดูเมื่อใดก็ได้ หรือกลับมาฉายใหม่ในช่วงปิดเทอม โดยเฉพาะทางอินเทอร์เน็ตไม่รู้จะห้ามอย่างไร มีหลายๆ เว็บนำเรื่องนี้ไปฉาย ทำให้เด็กดูย้อนหลังได้” น.ส.ลัดดากล่าว
ขณะที่ นางอรุโณชา ภาณุพันธ์ เจ้าของบริษัทบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น ผู้จัดละครเรื่องดอกส้มสีทอง ชี้แจงถึงเหตุผลและเนื้อหาที่แท้จริงของละครดอกส้มสีทองว่า บริษัทได้หยิบยกเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ตีแผ่ เน้นส่งเสริมสถาบันครอบครัว เพราะในท้ายที่สุด "เรยา" ไม่พบความสุขบั้นปลายชีวิต
"วันนี้เป็นประเด็นที่เราได้คุยกันกับท่านรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม และผู้เขียนบทโทรทัศน์ อ.ศัลยา สุขนิวัติ แล้ว ถึงเจ้าของบทประพันธ์ ถ่ายเถา สุจริตกุล จริงๆ ต้องบอกว่า สำหรับละครเรื่องนี้เป็นการสะท้อนสังคม เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง สิ่งเหล่านี้เราเป็นเพียงแค่ผู้สะท้อนออกมา ไม่ได้มีอะไรที่เกินจริงเลย เราพูดคุยชัดเจนว่าตัวละครนั้นมีเหตุมีผล ถ้ามองตัวละคร จะเห็นว่าตัวละครให้ข้อคิดเกี่ยวกับสังคม ตัวละครจะได้รับบทเรียนต่างๆ จะมีความทุกข์ เรยาไม่ได้รับความสุข เพราะฉะนั้นเราไม่ได้หยิบเรื่องที่เกินเลยจากสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม มันมีสิ่งที่เกิดขึ้นมากมาย เพียงแต่ผู้ประพันธ์หยิบเรื่องนี้ขึ้นมานำเสนอเท่านั้น ต้องบอกว่าบทประพันธ์นี้เกิดขึ้นมา 11 ปีแล้ว แสดงว่าสังคมเราเองยังไม่ได้ไปไหนไกล" หน่องกล่าว
ด้าน น.ส.อารยา เอ ฮาร์เก็ต หรือ "ชมพู่" ผู้รับบทเรยา กล่าวว่า ในส่วนตัวมองว่า บทเรยาสะท้อนอะไรหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะเรื่องการต่อว่า หรือทำพฤติกรรมที่ไม่ดีกับคนที่เป็นแม่ที่เลี้ยงดูเรามา แต่กระแสที่กลับมาหาตนจะเป็นในทางบวกมากกว่า เพราะเมื่อเขาได้ดูแล้ว คนที่ดูจะรู้สึกว่า ตัวเองห่างเหินกับพ่อแม่ ดูแล้วคิดถึงแม่ มันเป็นเหมือนกระจกสะท้อนว่า หากเคยทำไม่ดีกับแม่แบบนั้นหรือเปล่า ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งไม่ดี
"ชมบอกเลยว่า ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีขนาดนี้ มีคนเอาไปเปรียบเทียบในพฤติกรรมไม่ดีต่างๆ ในเรื่องต่างๆ แต่อย่างที่บอก ว่ามันเป็นเรื่องของตัวบทละคร ละครเรื่องนี้ให้สาระ แต่เวลาคนเอามาพูดถึง ก็จะพูดแต่เรื่องที่มันแซบๆ คงไม่มาพูดในเรื่องของสาระกัน แต่เรยามันไม่ใช่ตัวชม ซึ่งพอปิดกล้อง ชมกับเรยาก็แยกจากกันแล้ว ชีวิตเราไม่ได้ผูกติดกับเขาแล้ว แต่ชมรู้สึกดีที่คนดูแล้วอิน บอกเลยว่า บทนี้ทำให้เราชื่นใจที่สุด มันเป็นผลงานมาสเตอร์พีซของเรา และรู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจอย่างมาก มันเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้รับบทดีๆ แบบนี้แล้วคนจะจดจำในอีก 10-20 ปีข้างหน้าว่าชมเล่นบทเรยา แค่นี้ก็ภูมิใจแล้ว" ชมพู่กล่าว
https://www.facebook.com/teeneedotcom