เปิดใจ ?จา พนม? ?ผมกับช้างเป็นมากกว่าความผูกพัน?

เปิดใจ จา พนม ผมกับช้างเป็นมากกว่าความผูกพัน

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 30 สิงหาคม 2548 17:11 น.

หากจะพูดถึงนักแสดงที่สร้างความภาคภูมิใจให้คนไทยทั้งประเทศในตอนนี้คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก จา พนม ยีรัมย์ หรือ โทนี่ จา

ด้วยลีลาการต่อสู้ที่เหนือชั้น ศิลปะแม่ไม้มวยไทยแต่ละกระบวนท่าที่เขาใช้ในเรื่อง องค์บาก และ ต้มยำกุ้ง สามารถผสมผสานความแข็งแกร่ง ผาดโผนและงดงามไว้ด้วยกันอย่างลงตัวแม้แต่ฝรั่งต่างชาติยังต้องลุกขึ้นปรบมือให้กับความสามารถแบบไม่ใช้สลิง ไม่ใช้แสตนด์อินของเขา

กล่าวได้ว่า โทนี่ จา ได้กลายเป็น Idol ของผู้คนครึ่งค่อนโลกไปแล้ว

แต่แง่มุมชีวิตของเขาไม่ใช่มีเพียงการต่อสู้บู๊ล้างผลาญ ทุ่ม ทับ จับ หัก อีกด้านหนึ่งยังมีความรักความผูกพันที่เขามีให้เพื่อนที่รู้จักคลุกคลีกันมาตั้งแต่เด็ก จา บอกว่า ดอกไม้ เพื่อนของเขาอารมณ์ดี รักธรรมชาติ และเป็นมังสวิรัติ ตอนเด็กๆ เขากับดอกไม้จะเล่นด้วยกันเสมอ เขาไม่เคยถูกเพื่อนรังแก แม้เพื่อนของเขาจะตัวโตกว่าหลายเท่าก็ตาม

เลี้ยงช้างมาตั้งแต่รุ่นทวด
ตั้งแต่เกิดมาผมก็เห็น ดอกไม้ อยู่ที่บ้านแล้ว เขาเป็นช้างเพศเมียที่พ่อเลี้ยงไว้ คือพ่อผมเป็นควาญช้างซึ่งเป็นอาชีพที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นทวด พ่อเป็นชาวกูย เป็นส่วยอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์ (กูย-กลุ่มคนที่มีอาชีพเป็นควานช้าง, ส่วย-ชนกลุ่มหนึ่งในภาคอีสาน) พอแต่งงานกับแม่ก็ย้ายมาอยู่ที่บ้านโคกสูง (ต.บักได กิ่ง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์) เมื่อก่อนพ่อจะเอาช้างไปรับจ้างลากซุง แต่หลังๆ เอาไปให้คนขี่พาเที่ยวชมธรรมชาติ ก็ไปที่ปางช้างลำปางบ้าง เชียงใหม่บ้าง จะย้ายที่บ่อยครับ ตอนนี้เลิกแล้ว ก็เลี้ยงไว้เฉยๆ อยากให้เขา (ช้าง) อยู่สบายๆ บ้าง"




"ตอนแรกมีดอกไม้อยู่เชือกเดียว แล้วไปซื้อ ใบไม้ (ช้างเพศเมีย อายุ 60 ปี) จากปางช้างที่เชียงใหม่มาอีกเชือกหนึ่ง เพราะอยากให้ดอกไม้เขามีเพื่อน ตอนเอามานี่ใบไม้เขาป่วย แล้วก็ผอมมาก เราก็เอามารักษาจนหาย เขาเป็นเหมือนแม่ลูกกันนะ อยู่ด้วยกันแล้วรักกันมาก เวลาเลี้ยงนี่ง่ายมาก เอาเชือกไหนไปล่ามตรงไหนอีกเชือกหนึ่งเขาจะตามไปด้วย

พังดอกไม้ กับความผูกพันวัยเยาว์
จาเล่าถึงช่วงชีวิตในวัยเด็กว่า เขาจะช่วยพ่อเลี้ยงช้างโดยพา พังดอกไม้ ไปกินกิ่งไม้ใบไม้ในป่าละเมาะใกล้ๆ บ้าน และอาบน้ำให้เป็นประจำ

วันหยุด (เสาร์-อาทิตย์) ผมจะมีหน้าที่เลี้ยงช้าง พาช้างเข้าป่าเลย เพื่อนๆ จะขี่ควาย เราก็ขี่ช้าง ลงทุ่งนาแล้วก็เลยเข้าไปในป่า มันสนุกมากนะเวลาที่พาช้างลงไปอาบน้ำในแอ่ง เหมือนเพื่อนเล่นกัน คือตอนนั้นผมชอบดูหนังบู๊หนังแอกชันด้วย ก็โดดตีลังกาจากหลังช้าง ช้างก็มุดน้ำดำน้ำ พลิกไปพลิกมา เราก็ตกลงไปในน้ำ (หัวเราะ) ว่ายเล่นกัน สนุกฮะ

จา กับ ดอกไม้ ช้างเพศเมียซึ่งอยู่กับครอบครัวยีรัมย์มาตั้งแต่จายังไม่เกิด


จากคำบอกเล่าของจาทำให้เราทราบว่าช้างถือเป็นสัตว์เลี้ยงคู่บารมีของตระกูล ยีรัมย์ เป็นเหมือนสายใยที่สืบทอดกันมาจากรุ่นปู่ย่าตาทวด ซึ่งรุ่นลูกรุ่นหลานต้องสืบสานกันต่อไป และด้วยความเชื่อโบราณซึ่งถือว่าช้างคือเทวดาผู้ปกปักรักษา ดังนั้นหากวันหนึ่งพังดอกไม้และพังใบ้ไม้สิ้นอายุขัยลง ตระกูลยีรัมย์ก็จะต้องหาช้างเชือกอื่นมาทดแทน

มันผูกพันกันมากนะ ช้างจะจำเจ้าของได้ ดอกไม้กับใบ้ไม้เขาจำทุกคนในครอบครัวผมได้หมด คนในบ้านจะขึ้นขี่ก็ขี่ได้เลย ขนาดผมช่วง 10 ปีหลัง นานๆ จะได้กลับบ้านที กลับไปเขาก็ยังจำได้ ผมกลับไปบ้านนี่ จะไปไหว้เขา (พังดอกไม้) ตลอดเพราะถือว่าเขามีพระคุณกับเรา เงินที่พ่อส่งให้ผมกับพี่ๆ น้องน้องๆ เรียนนี่ก็มาจากหยาดเหงื่อของเขา ที่จริงมันไม่ใช่เป็นแค่สัตว์เลี้ยง แต่เป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัว เขาเรียกเป็นย่า เป็นยาย เป็นน้อง ที่บ้านผมเรียกว่ายายดอกไม้กับยายใบไม้ เพราะเขาแก่กว่าผมมาก (หัวเราะเสียงใส)

ต้มยำกุ้ง บางเสี้ยวจากชีวิตจริง
จาบอกว่าจริงๆ แล้วเนื้อหาในภาพยนตร์เรื่อง ต้มยำกุ้ง ส่วนหนึ่งมาจากชีวิตจริงของเขา เพราะก่อนที่จะร่างโปรเจ็กต์งานชิ้นนี้ ทั้งปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ พันนา ฤทธิไกร ผู้ออกแบบและกำกับฉากแอกชัน และตัวจาเอง ได้ร่วมกันระดมสมอง โดยมีโจทย์เบื้องต้นว่าอะไรที่เป็นคาแรกเตอร์และเป็นตัวตนของ จา พนม ยีรัมย์ รวมทั้งสามารถสื่อถึงความเป็นไทยได้ เพราะหนังเรื่องนี้มีเป้าหมายที่จะนำออกฉายในต่างประเทศด้วย

ก็มาได้ข้อสรุปว่าช้างนี่แหละ เพราะที่บ้านผมมีอาชีพเป็นควาญช้าง แล้วช้างก็เป็นสิ่งที่คนทั่วโลกรู้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย อีกทั้งมวยไทยยังมีท่ามวยที่เกี่ยวกับช้าง เลยลงตัวพอดี ตอนเห็นหนังเรื่องนี้ช่วงที่ตัวเอกยังเป็นเด็ก ดูแล้วก็นึกสมัยผมเด็กๆ นึกถึงบรรยากาศเก่าๆ

สืบทอดความรู้เรื่องการเลี้ยงช้างมาจากคุณพ่อ


มวยคชสาร แม่ไม้ที่นำมาดีไซน์ใหม่

แต่ก่อนจะมาเป็นท่า มวยคชสาร ในเรื่อง ต้มยำกุ้ง จาต้องเดินทางไปถึงจังหวัดนครราชสีมา และฝากตัวเป็นศิษย์ของ พ.อ.อำนาจ พลุกศรีสุข เพื่อเรียนรู้ชั้นเชิง มวยคชสาร มวยไทยโบราณที่เน้นการทุ่ม ทับ จับ หัก และเลียนแบบมาจากอิริยาบถของช้าง เช่น หักงวงอัยรา ช้างลำลายโลง เสือทำลายห้างช้างทำลายโลง เอราวัณเสยงา คชสารแทงโลง

ท่ามวยคชสารที่เห็นในหนังนี่จะไม่ใช่ท่ามวยโบราณทั้งหมด บางส่วนเราดีไซน์ขึ้นโดยเอาท่าแม่บทหรือแม่ไม้อย่างช้างทำลายโลงมาแตก คือผมไปฝึกกับท่าน พ.อ.อำนาจ ซึ่งท่านเป็นครูมวยที่สอนมวยไทยให้ทหาร ท่านก็ให้ท่าแม่บทมา 2 แม่บท คือ เสือทำลายห้าง กับช้างทำลายโลง

เสือทำลายห้างก็จะคล้ายๆ กับท่าไหว้ คือเวลาเสือมันจะจู่โจมมันจะทำลายจากข้างล่างขึ้นข้างบน สมัยก่อนคนที่ไปส่องสัตว์ในป่าจะขึ้นไปนั่งบนห้างหรือแคร่ไม้สูงๆ เสือก็จะพังห้างก่อนถึงจะทำร้ายคน ส่วนช้างทำลายโลง จะยื่นมือออกมา 2 ข้าง คล้ายงาช้าง คือช้างเวลาต่อสู้หรือโค่นต้นไม้เนี่ยจะใช้งาและงวงเกี่ยวจากข้างบนลงมาข้างล่าง

"ครูก็บอกว่าถ้าเราดูแม่ไม้แต่ละท่าดีๆ จะสามารถแตกออกมาเป็นลูกไม้ เกล็ดไม้ และเกล็ดไม้ย่อยได้ไม่มีที่สิ้นสุด อยู่ที่ลูกศิษย์จะเอามาดัดแปลง แม่บทหนึ่งอาจแตกได้เป็นสิบเป็นร้อย อย่างช้างทำลายโลงนี่นอกจากใช้มือแล้วอาจจะแตกออกมาเป็นใช้ขาเกี่ยวก็ได้ คือเราเปรียบขาหรือแขนเป็นงวงเป็นงา มีการหัก การล็อก การทุ่ม เพราะช้างจะใช้งวงเกี่ยว รัด กระชาก เหวี่ยง ถ้าคนถูกช้างเอางวงมารัดแล้วตวัด แขนขาก็หักได้"

"ถ้าเราไปยึดติดกับท่าแม่ไม้อย่างเดียวก็จะเป็นท่าแม่แบบตายตัวอยู่แค่ตรงนั้น แต่ถ้าเราเปิดมันก็จะได้ออกมาเป็นท่าไม้เกล็ดไม้ย่อยเยอะมาก จากที่ใช้แขนล็อกแบบธรรมดาคุณก็ใช้ขาล็อกได้ จากใช้แขนเดียวก็ใช้ล็อกด้วย 2 แขน




จาเล่าถึงการดีไซน์ท่ามวยในเรื่อง ต้มยำกุ้ง ว่า

อาจารย์พันนา (พันนา ฤทธิไกร) เปิดโอกาสให้ผมมีอิสระในการคิดค้นและดีไซน์ท่ามวยอย่างเต็มที่ ส่วนอาจารย์จะคอยควบคุมว่าจะนำท่ามวยต่างๆ มาใส่ในภาพยนตร์อย่างไร ผมมีหน้าที่คือมีความสามารถเท่าไรใส่มาให้หมด ท่ามวยจะไหลไปยังไงก็ได้ เสร็จแล้วอาจารย์พันนา ทีมงาน และผู้กำกับจะนำมาเรียงร้อยเอง ผมก็ไม่ได้นับนะมาแตกออกมาได้กี่ท่า คือเวลามันไหลนี่มันไปเร็วมาก คุณต่อยมาผมเอามือล็อก ถ้าล็อกได้ผมจะเกี่ยวคุณ ถ้าเกี่ยวคุณได้ ผมจะใช้ขาเกี่ยวซ้ำอีก มันจะไหลไปเองหมด จริงๆ แล้วศิลปะการต่อสู้ของทุกชนชาติมีรากฐานเดียวกันหมด คือรากฐานมาจากธรรมชาติ อยู่ที่คนเราจะพลิกแพลงไปอย่างไร

ประทับใจกับความแสนรู้
นอกจากช้างทั้ง 2 เชือกที่จาเลี้ยงไว้แล้ว การที่เขาได้มาเล่นหนังเรื่องต้มยำกุ้งยังทำให้เขาสัมผัสได้ถึงความแสนรู้ของช้างไทย

เจ้าตัวเล็กที่เล่นเป็น ขอน นี่น่ารักมาก เขาขี้เล่น แล้วก็แสดงดีมากๆ มันเกิดมาเพื่อหนังเรื่องนี้มั้ง (ยิ้ม) โดยเฉพาะฉากที่แม่ช้างตาย หน้าเขาเศร้ามาก ช้างที่เล่นเป็นแม่ก็เก่งจริงๆ คือเขาผ่านการฝึกมา เขาแกล้งตายได้ แล้วบังเอิญเขาเป็นแม่ของเจ้าตัวเล็กจริงๆ พอล้มตัวลงเหมือนตาย ตัวลูกเลยนึกว่าแม่ตายๆ ก็เข้ามาเคล้าเคลีย ส่งเสียงร้องใหญ่ เขาจะติดแม่มาก อย่างฉากที่ผมไปเจอ ขอน ที่ออสเตรเลียแล้วเขาดีใจวิ่งมาหา จริงๆ แล้วเราให้แม่ช้างไปยืนอยู่ข้างหลัง เขาก็วิ่งไปหาแม่ เราเข้าไปกอด ที่ตลกคือเขาพยายามจะวิ่งไปหาแม่ เราต้องขืนไว้ แบบว่าเฮ้ยอย่าเพิ่งไป เล่นให้จบฉากก่อน"

"บางทีช้างก็ดื้อนะ ตัวเล็กอีกเชือกนี่เขาติดเจ้าของ ก็จะงอแงวิ่งหาเจ้าของอย่างเดียวเลย เราก็ต้องใช้ลูกล่อลูกชน เอากล้วยมาล่อ ก็ถือกล้วยไว้ในมือ แล้วล่อให้เขาวิ่งตาม ที่เห็นขอนวิ่งตามผมในหนังเนี่ย ความจริงเขาวิ่งตามกล้วยนะ (หัวเราะร่วน) เวลาจะให้วิ่งไปทางไหนก็ให้เจ้าของไปยืนตรงนั้น อย่างเสียงร้องที่เห็นในเรื่องบางทีเขาก็ร้องเอง บางทีก็เอาเสียงร้องมาใส่ แต่กว่าจะถ่ายจบ ขอน ต้องเปลี่ยนตัวถึง 3 เชือกนะ เพราะเขาโตขึ้นเรื่อยๆ




ช้างทั้งหมดที่นำมาแสดงในเรื่อง ต้มยำกุ้ง นั้นล้วนมาจากปางช้างที่ จ.กาญจนบุรี โดยต้องมีการคัดเลือกและ casting เช่นเดียวกับนักแสดงที่เป็นคน เพื่อดูว่าช้างแต่ละเชือกสามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น วิ่งไล่ แกล้งตาย ทำท่าดีใจ เสียใจ ซึ่งถือว่าโชคดีที่หนังเรื่องนี้ได้ช้างที่มีประสบการณ์ด้านการแสดงมาก่อน โดยแม่ช้างและพ่อช้างที่รับบท พ่อใหญ่ เคยผ่านการแสดงเรื่อง สุริโยไท มาแล้ว เมื่อคัดเลือกช้างได้แล้ว นักแสดงกับทีมงานก็ต้องเข้าไปทำความคุ้นเคยกับช้าง ตั้งแต่ให้อาหาร โอบกอด ลูบตัว พูดคุยกับเขา เพื่อให้รู้ว่าเราเป็นมิตร เวลาที่ช้างดื้อหรือหงุดหงิดทีมงานก็จะเอากล้วยมาป้อนเพื่อให้ช้างอารมณ์ดี

ทุกครั้งที่เข้าฉากกับช้างในเรื่องต้มยำกุ้ง เราก็จะนึกถึงภาพเก่าๆ ที่เคยเล่นกับช้างที่บ้าน จา บอกยิ้มๆ

ฝันทำปางอุปถัมภ์ช้างเร่รอน
จากความรักและผูกพันที่มีให้เพื่อนตัวโต พระเอกนักบู๊คนนี้จึงมีความฝันว่าอยากจะทำปางช้างเล็กๆ เพื่ออุปถัมภ์ช้างเร่ร่อน โดยซื้อที่ดินไว้ประมาณ 100 ไร่เพื่อรองรับตรงนี้

ที่จะอยู่ใกล้ๆ กับบ้านผมที่สุรินทร์ วางไว้ว่าจะปลูกต้นไม้ทำไร่นาสวนผสม ตอนนี้ก็เริ่มเอาต้นไผ่มาลงแล้ว เอาไว้ให้ช้างกิน คือแต่ก่อนนอกจากพ่อจะเป็นควาญช้างแล้ว แม่ก็ทำไร่ทำนาแต่เป็นเกษตรแบบดั้งเดิมซึ่งผลผลิตจะไม่ค่อยดี เราก็เปลี่ยนมาเป็นไร่นาสวนผสม เป็นเกษตรเชิงอนุรักษ์ อยากเอาธรรมชาติกลับคืนมา ให้มีต้นไม้ใหญ่ๆ ด้วย แล้วให้ช้างไปอยู่ตรงนั้น อยากทำที่บ้านให้เป็นป่า (หัวเราะ) ก็ทำตามกำลังที่มี เริ่มต้นจากช้างเราก่อน จากที่ซื้อกล้วยมาให้กิน ก็มีที่ให้เขา มีต้นไม้ที่เขากินได้ แล้วอนาคตค่อยว่ากัน

จากการพูดคุยในวันนั้น ทำให้เรารู้ว่านอกจากความกล้าบ้าบิ่นที่เราพบเห็นในฉากบู๊ที่เขาแสดงแล้ว ความอ่อนโอน ยังเป็นอีกสิ่งที่เราสัมผัสได้จากผู้ชายคนนี้ จา พนม ยีรัมย์
..........
(เรื่องโดย จินดาวรรณ สิ่งคงสิน)




เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์