ผู้กำกับดังโพสต์สุดจุก ถึงเหตุการณ์กราดยิงที่หนองบัวลำภู
คงเดช จาตุรันต์รัศมี นักเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง โพสต์ข้อคิดถึงเหตุการณ์ที่หนองบัวลำภู กับประเด็นที่ว่า ทำไมเหตุการณ์นี้ถึงสะท้อนความล้มเหลวทางโครงสร้างของประเทศไทย
- เกิดเหตุการณ์กราดยิงถึงสี่ครั้งในรอบสามปี แต่ก็ยังไม่มีมาตรการอะไรจากรัฐเพื่อแก้หรือป้องกันเรื่องนี้
- เหตุการณ์กราดยิงในต่างประเทศ มักเกิดจากประชาชน ทำให้เกิดการถกเถียงเรื่องกฏหมายการครอบครองอาวุธ แต่ในประเทศนี้เหตุการณ์ทั้งสี่เกิดขึ้นจากบุคคลในเครื่องแบบหรือคนที่ครอบครองอาวุธด้วยอาชีพ
- อาจมีคนเถียงว่า ถ้าคนลงมือเป็นอาชีพอื่นก็คงไม่เอามาโจมตีรัฐบาลขนาดนี้ อันนี้ก็จริง แต่เพราะว่า ถ้าคนลงมือทำงานอยู่ในองค์กรเอกชน ป่านนี้เจ้าของกิจการคงจะออกมาแสดงความเสียใจ ขอโทษ ชดเชย แก่ผู้เสียหาย รวมทั้งรีบคิดหาทางออกมาตรการไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีก
- และถ้าคนลงมือเป็นคนทำอาชีพอื่นที่มีบริษัทสังกัด ป่านนี้เราคงเห็นแฮชแทกแบนผลิตภัณฑ์บริษัทนั้นไปแล้ว
- แม้คนลงมือจะเป็นอดีตตำรวจ แต่ก็ถูกถอดจากตำแหน่งเพราะเรื่องยาเสพติด ซึ่งก็คือสาเหตุของเหตุการณ์นี้ ไม่ได้หมายความว่าเมื่อถูกถอดไปแล้ว ก็ไม่นับเป็นคนขององค์กร ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ไม่เกี่ยวอะไรกับฉัน
- และมันหมายความว่า มีผู้พิทักษ์กฏหมายที่เสพยาอยู่ และเป็นที่รู้กันในหมู่คนร่วมอาชีพ ไม่ใช่ปัญหาขององค์กรแล้วจะเป็นปัญหาของใคร
- การที่ผู้นำตอบว่า จะให้ทำยังไง ก็คนมันติดยา เป็นคำที่สะท้อนภาวะผู้นำที่ไร้ศีลธรรม และไม่มีความคิดของการแก้ปัญหาอยู่ในคำตอบ
- เช่นเดียวกับการร่ายเบอร์สายด่วน สะท้อนถึงการเลือกที่จะทำแค่ตั้งรับ นั่งอยู่เฉยๆ รอคนแจ้งเข้ามา ซึ่งไม่น่าแปลกใจเมื่อเห็นได้จากการนั่งหลับตลอดเวลาของผู้นำท่านนี้
- ขณะเดียวกันเมื่อฟังสัมภาษณ์ของนายตำรวจผู้รับผิดชอบคดี และหัวเราะเมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงจำนวนผู้เสียชีวิต นับรวมคนร้ายและครอบครัวแล้วหรือยัง ก็ได้แต่ช๊อคในความขาดมารยาท กาละเทศะ และสะท้อนให้เห็นถึงการไม่นึกถึงความรู้สึกของคู่สนทนารวมถึงประชาชนที่ฟังอยู่ทางบ้าน
- การตอบปัญหาของทั้งสองล้วนแสดงให้เห็นว่า ผู้รับผิดชอบปกครองบ้านเมืองของเราทำงานอยู่บนฐานความคิดแบบอำนาจนิยม ซึ่งมักจะไม่เน้นการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และไม่เห็นประชาชนเป็นหลักใหญ่
- ขณะเดียวกันเหตุการณ์นี้ก็ได้แสดงให้เห็นความต่ำช้าในแง่จรรยาบรรณของสื่อ
- ไม่ว่าจะเป็นคำถามที่สัมภาษณ์ผู้นำว่ารู้สึกว่าโชคดีมั้ยที่คนร้ายยิงตัวตายจะได้ไม่สูญเสียกว่านี้ ถือเป็นคำถามไร้ความคิดราวกับคนที่ไร้หลักอาชีพ และยังมีฐานความคิดแบบพึ่งพา "โชค" แม้แต่ในเหตุการณ์เศร้าสลดแบบนี้
- หรือแต่ละคำถามที่ระดมยิงใส่ทั้งผู้เห็นเหตุการณ์ ผู้รอดชีวิต ญาติพี่น้องพ่อแม่ผู้เสียชีวิต ก็ล้วนไร้จรรยาบรรณ แต่ตั้งมั่นอยู่กับความอยากรู้อยากเห็น หรือแถวบ้านเรียกว่า "เสือก" ราวกับนี่คือข่าวใต้เตียงดารา
- ซึ่งนั่นหมายความว่า นิยามของคำว่านักข่าว และสื่อมวลชน ในวันนี้น่าจะมีความพิกลพิการจากสิ่งที่ควรจะเป็นไปเสียแล้ว
- ที่ย่ำแย่ที่สุดน่าจะเป็นบรรณาธิการข่าวแต่ละสำนัก ที่ถ้านักข่าวถามคำถามที่ไม่ควรถามก็ไม่ควรจะนำเสนอ แต่กลับไม่ได้ทำหน้าที่คัดกรองอย่างมีจรรยาบรรณ จนไม่รู้เลยว่าจะมีตำแหน่งนี้ไปทำไม ในเมื่อความอาวุโสทั้งอายุงานและตำแหน่งน่าจะทำให้มีเกียรติและศักดิ์ศรีต่อการเลือกนำเสนอข่าว
- นั่นยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า สื่อมวลชนทุกวันนี้เองก็ไม่ได้มองเห็นผู้เสียหายในข่าวอย่างเป็น "มนุษย์" แต่เห็นเป็นเหมือนชิ้นเนื้อก้อนโตให้กัดทึ้ง (เอาจริงๆแม้แต่ในข่าวบันเทิงทุกวันนี้ก็เป็นอย่างนี้)
- จะเป็นจรรยาบรรณสื่อ empathyต่อผู้เสียหาย สิทธิ์ของผู้เสียหาย การบังคับใช้กฏหมาย มาตรการการปราบยาเสพติด ความรับผิดชอบของผู้พิทักษ์กฏหมาย และฝ่ายปกครอง ล้วนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหมด
- ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ แล้วยังคิดว่ารัฐนี้ไม่มีปัญหา ก็...
https://www.facebook.com/teeneedotcom