วันก่อนกรมประชาสัมพันธ์ โดย อธิบดีปราโมช รัฐวินิจ ได้เรียกผู้จัดรายการไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ ปรากฏว่า
บรรดาผู้จัดและดาราต่างตบเท้าไปร่วมฟังคำชี้แจงแน่นห้องประชุม
อาทิ บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ จากเอ็กแซ็กท์ อ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ วชิระบรรจงดาราและผู้จัดละคร นก-จริยา แอนโฟเน่ดาราและผู้จัดละคร หน่อง-อรุโณชา ภานุพันธ์จากค่ายบรอดคาทซ์ฯ วิทวัส สุนทรวิเนตร์จากรายการตี 10 รวมทั้ง จำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
บอย-ถกลเกียรติ ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างคู่มือการจัดระเบียบระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ที่ออกมานั้น ต้องเคารพความคิดเห็นของเราบ้าง หลายคนมีความเห็นต่อต้าน ร่างดังกล่าวเหมือนกำหนดสิทธิของประชาชนในฐานะผู้บริโภค ผู้ชมไม่ใช่เด็กหรือเยาวชนเท่านั้น แต่ยังมีผู้ใหญ่ที่เป็นผู้บริโภคอีกมากมายการกำหนดระดับความเหมาะสมของรายการกลุ่มผู้ชม อาทิ ป รายการสำหรับเด็กปฐมวัยอายุ 3-5 ปี ด รายการสำหรับเด็ก 6-12 ปี ท รายการทั่วไป สำหรับผู้ชมทุกวัย น รายการทั่วไปที่ผู้ใหญ่ให้คำแนะนำแก่ผู้ชมอายุระหว่าง 13-18 ปี ฉ รายการสำหรับผู้ใหญ่ อายุมาก 18 ขึ้นไป เป็นเรื่องที่ดี
แต่อย่ากำหนดเวลา มีเพียงสัญลักษณ์คอยเตือนอยู่หน้าจอก็พอ แต่นี่มากำหนดเรตติ้งควบคู่กับเวลา รายการละครที่มีในช่วงสองทุ่มขึ้นไป หากมีฉากตบตี หรือทะเลาะเบาะแว้งกัน หรือถูกฆ่าตาย ต้องย้ายไปอยู่ช่วง ฉ ซึ่งอยู่ในช่วงเวลา 22.00-04.00 น. ของวันธรรมดา และเวลา 20.00-05.00 น. ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือ ช่วงวันหยุดราชการ ถ้าร่างนี้เข้า ครม. แล้วผ่าน การ์ตูนเด็ก เช่น โดเรมอนยังต้องย้ายไปอยู่ในช่วงเวลา น เลย
ที่น่าขำก็คือรายการเด็กต้องมีพิธีกรอายุไม่เกิน 12 ปี ไม่รู้เอาอะไรคิดกัน ถ้า ครม.มีมติออกมา ผู้จัดก็ต้องหยุดงานกันทุกคน
ส่วนดารานักแสดงและผู้จัดทำละครอย่าง อ๊อฟ-พงษ์พัฒน์ลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นอย่างเผ็ดร้อนตามสไตล์ของเขาว่า เป็นการลิดรอนสิทธิคนดู การร่างกฎหมายเช่นนี้ออกมา เหมือนดูถูกคนไทยว่าไม่มีความสามารถที่จะเลือกบริโภคสื่อโทรทัศน์ หรือแนะนำบุตรหลาน ให้บริโภคสื่อโทรทัศน์ที่สมควรดูหรือไม่สมควรดูได้
ร่างฉบับนี้เหมือนกำหนดให้เรากินแกงเผ็ด แกงส้ม หรือแกงจืด ดูแล้วก็คิดว่าดี เพราะเตือนให้เรารู้ว่านี่แกงเผ็ดนะ นั่นแกงจืดนะ แต่พอจะกินต้องกินแกงเผ็ดตอนเที่ยง กินแกงจืดตอนเช้า ไม่ให้กินนอกเวลาที่กำหนด ทำให้เราไม่มีสิทธิ์ที่จะบริโภครายการอย่างที่เราต้องการจะดู คิดว่าการที่เด็กจะดูรายการต่างๆเหมาะสมตามวัยนั้น จะต้องมีพ่อแม่คอยดูแลว่ารายการไหนเหมาะสมที่จะดูหรือไม่ต่างหาก
ส่วนจำนรรค์ ศิริตัน กล่าวว่า การออกกฎระเบียบเช่นนี้ทุกคนไม่เห็นด้วย อยากจะขอให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เอาข้อมูลที่พวกเรากล่าวไว้ไปให้คณะกรรมการร่างกฎนี้เอาไปทบทวนดู
ความจริงแล้วนักวิชาการกลุ่มดังกล่าว ควรให้พวกเราที่มีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องนี้เข้าไปร่วมรับรู้ด้วย ไม่ใช่ใครที่ไหนก็ไม่รู้มาร่าง แล้วก็เกิดปัญหาเดือดร้อนกันไปทั่ว
ทุกวันนี้กลุ่มผู้ประท้วง ก็เยอะอยู่แล้ว อย่าให้เกิดกลุ่มใหม่ขึ้นอีกเลย เพราะจะทำให้บ้านเมืองย่ำแย่มากขึ้นไปอีก
ที่น่าเห็นใจที่สุดหนีไม่พ้น ปราโมช รัฐวินิจอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ที่เจอทั้งขึ้นทั้งล่อง แต่ก็ใจดีสู้เสือจะนำความคิดเห็น ที่ต่อต้านร่างกฎระเบียบฉบับนี้ เสนอต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์พิจารณา
ปัญหาเรทรายการ ที่ผ่านมติครม.เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา คงจะยังยืดเยื้อต่อไป เมื่อซีกของผู้จัดรายการ ลงสัตยาบรรณคัดค้านและต่อสู้จนถึงที่สุด
โฉมหน้าคู่มือจัดเรทรายการ ที่มาของความขัดแย้งรัฐ-ผู้จัด
อุณหภูมิของความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารสื่อทีวี และ ผู้จัดรายการ ดูเหมือนว่าจะเดือดพล่านเพิ่มองศาขึ้นเรื่อยๆ เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีมุมมอง และ จุดยืนคนละที่
ที่มาของความขัดแย้งดังกล่าว มาจาก การจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ หรือ ที่เรียกกันง่ายๆว่า เรทรายการนั่นเอง ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา
ร่างคู่มือการจัดเรททีวี ได้ถูกแจกจ่ายไปยังผู้บริหารสื่อทีวี และ ผู้จัดรายการตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พร้อมๆกับหนังสือเชิญประชุมชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ที่ส่งถึง ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์ทั้ง 6 ช่อง คือช่อง 3,5,7,9,11 และ ทีไอทีวี
กรมประชาฯโดยกองงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กองงาน กกชได้เชิญผู้บริหารทีวีเข้าร่วมประชุมชี้แจง ในวันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม ส่วนผู้จัดรายการเข้าประชุมชี้แจงในวันพุธที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา
จนกลายเป็นการปะทะคารมระหว่างผู้บริหารทีวี และ ผู้จัดรายการกับอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในที่สุด เพราะนอกจากรายการ น ที่ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำกับคนดู ที่มีอายุระหว่าง 13-18 ปี จะถูกโยกไปออกอากาศช่วง 20.00 05.00 น.ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และ วันหยุดราชการ และ 09.00-16.00 น.ในวันจันทร์-ศุกร์ ที่ส่งผลกระทบต่อรายการละคร และ รายการประเภทอื่น ที่ออกอากาศในช่วงกลางวันและเย็น
รวมทั้งรายการประเภท ฉ สำหรับผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไป ออกอากาศในช่วงเวลา 22.00-04.00 น.ก็ยังมีรายการประเภท ป ที่โผล่มาแทนที่รายการประเภท ก สำหรับเด็กปฐมวัยอายุ 3-5 ปี ที่ยากต่อการปฏิบัติ
เพราะมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ที่ผู้จัดรายการมองว่า ยากต่อการปฏิบัติ อาทิ ผู้แสดง ผู้ดำเนินรายการควรอยู่ในช่วงอายุที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของรายการ คือระหว่าง 3-12 ปี ฯลฯ
คู่มือการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ที่ถูกแจกจ่ายไปยังผู้บริหารสถานี และ ผู้จัดรายการมีทั้งหมด 30 หน้า
แต่ไม่น่าเชื่อว่าจะส่งผลถึงธุรกิจสื่อทีวี รวมทั้งยังสร้างความขัดแย้งได้รุนแรง ถึงขั้น คนทีวีประกาศดับเครื่องชน รวมพลังคัดค้านอย่างพร้อมพรึ่บ
ข่าวอาจเก่าไปหน่อย แต่เห็นว่ายังไม่มี เลยเอามาลงดู
ขอบคุณข่าวจากหนังสือพิมพ์ดาราเดลี่ http://www.daradaily.co.th
https://www.facebook.com/teeneedotcom