แห่เมนต์ CGตัวเหรา ในพิภพหิมพานต์ ทีมงานถึงขั้นโพสต์!!
เนียนมากจนนึกว่ามีตัวตนอยู่จริงๆ สำหรับ ตัวเหรา 1 ในสัตว์ป่าหิมพานต์ จากจินตนาการ ที่ ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านจอละคร ใน พิภพหิมพานต์ EP.ล่าสุด ในฉากเผชิญหน้า กับ นางเอก อย่าง แยม มทิรา งานนี้ได้รับเสียงชื่นชมจากแฟนชาวเน็ตไปเต็มๆว่าทำได้เยี่ยม และ ใส่ใจทุกรายละเอียด
ซึ่งทีมงาน หลังเห็นฟีดแบคของแฟนละคร ก็ขอเล่าย้อนถึงการรังสรรค์ เจ้าเหรา ในจินตนาการ ไว้ดังนี้
ซีนเหราเป็นซีนแรกๆ ที่ ทีมCG เริ่มทำโปรเจคนี้ เราตั้งใจทำกันมาก เพื่อให้ออกมาดีที่สุด ตอนฉายเลยตื่นเต้นมากก ที่เหราออกมา มันดีกว่าที่คิดไว้เยอะเลย...
ถ้าจะสังเกตุ ตอนเหราวิ่งไล่ตรงร่องน้ำ มีตอนที่วิ่งแล้วลื่นดินโคลนตรงร่องด้วย ^ ^ #พิภพหิมพานต์ #พิภพหิมพานต์EP4 #FatcatStudios
ทั้งนี้ เหรา หรืออีกชื่อหนึ่ง ตัวมกร (มะ-กอน หรือ มะ-กะ-ระ) คือ สัตว์ในจินตนาการอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างจระเข้กับพญานาค ที่จะมีลำตัวยาวและส่วนหัวคล้ายกับพญานาค มีขายื่นออกมาจากลำตัว 4 ขาและมีปากเป็นจระเข้
แต่ถ้าหากไปดูตำนานของฮินดู มกรจะเป็นสัตว์ประหลาดในทะเล มีลักษณะของสัตว์บกผสมกับสัตว์น้ำ เช่น ช้างผสมจระเข้ผสมปลา มักจะมีรูปปั้น หรือ ปฎิมากรรม อยู่วัด หรือ โบสถ์ ทางพุทธศาสนา สะท้อนแนวคิดคติความเชื่อเกี่ยวกับพุทธศาสนา ที่ยึดถือคติไตรภูมิเป็นหลัก โดยเปรียบดั่งสถานที่นั้นคือเขาพระสุเมรุ ที่มีสัตว์หิมพานต์คอยเฝ้าอยู่เชิงเขา เพื่อไม่ให้คนขึ้นไปรบกวนทวยเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนสวรรค์ และทำให้เกิดความสวยงามแก่ศิลปสถาน แสดงออกถึงเอกลักษณ์ของตนเองอย่างชัดเจนผ่านงานสร้างประติมากรรม
นอกจากนี้ตัวเหรายังมีตำนานที่กล่าวเล่าสืบต่อกันมาว่า เราได้เปรียบเหราเป็นตัวแทนของความอิจฉาริษยา หยิ่งทะนงในตน เป็นสัตว์ที่มีความมักใหญ่ใฝ่สูง อยากจะเป็นเจ้าแห่งแม่น้ำโขง ทำให้มีเรื่องเล่าว่า เหรารู้สึกอิจฉาพญานาคเป็นอย่างมาก เนื่องจากพญานาคถูกยกย่องให้เป็นตัวแทนของผู้ที่จะเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา โดยเรียกผู้ที่เข้ามาบวชว่า นาค ก่อนที่จะบวชเป็นพระสงฆ์ จึงพยายามเอาชนะพญานาค โดยไปขอท้าประลองด้วย แต่เนื่องจากพญานาคไม่อยากให้การประลองส่งผลกระทบเดือดร้อนต่อเหล่าสรรพสัตว์ที่อาศัยอยู่บริเวณน้ำโขง จึงได้ยื่นข้อเสนอว่า ถ้าหากเหรากลืนกินตนนั้นได้ทั้งตัวจะถือว่าเหราเป็นฝ่ายชนะ เหราตอบตกลงในข้อเสนอนี้แล้วได้ทำการเริ่มกลืนพญานาคขึ้นมาจากส่วนหางจนใกล้จะถึงส่วนหัว แต่สุดท้ายเหราก็ไม่สามารถกลืนพญานาคได้หมดเพราะยิ่งเหราอ้าปากกว้างขึ้นเท่าไร พญานาคก็จะยิ่งเพิ่มเศียรขึ้นเท่านั้นจาก 1 เศียรเป็น 3 เศียร 5 เศียร 7 เศียร
จากความเชื่อตรงนี้ ทำให้รูปปั้นพญานาคตามศาสนสถานทางภาคเหนือ ภาคอีสานมักจะสร้างเหราไว้เชิงบันไดโบสถ์ที่จะมีลักษณะหัวพญานาคโผล่ออกมาจากปากเหรา ถ้าสื่อในทางพุทธศาสนาตัวเหราจะเหมือนอุปาทาน ความยึดติด ความลุ่มหลง ส่วนพญานาค จะหมายถึง ความมีชีวิต ร่างกาย จิตใจของเรา โดยเป็นคำสอนได้ว่าการไม่ยอมแพ้ให้กิเลสของความชั่วกลืนกินตัวเราได้ทั้งหมด ซึ่งบอกเป็นนัยได้ว่าให้คนที่มาที่โบสถ์หรือมาที่วัดให้ละทิ้งความทุกข์ ทิ้งความยึดติด ทิ้งความลุ่มหลงของตนเองเอาไว้ภายนอกโบสถ์ เพื่อที่จะได้ขึ้นไปรับเอาความสุข ความสงบร่มเย็น และปล่อยวาง
---
--------
เครดิตแหล่งข้อมูล : thepeople.co,ConductorCG,ch3thailand
เรียบเรียง : ทีมงาน Teenee.com
https://www.facebook.com/teeneedotcom