เตรียมซับน้ำตาบทสรุปรากนครา ผู้ประพันธ์ชี้แจง ทำไมบทเปลี่ยนไปขนาดนั้น!!
ซึ่งเรื่องของ "ตอนจบ" นั้น ผู้เขียนคือ นันทพร ศานติเกษม เจ้าของนามปากกา ปิยะพร ศักดิ์เกษม บอกด้วยอาการหัวเราะๆ ว่าเป็นปัญหามาตั้งแต่ตอนที่เรื่องนี้ถูกตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทยเมื่อปี 2539-2540 แล้ว เพราะเธอได้รับทั้งจดหมายจากผู้อ่าน และคำขอของบรรณาธิการ ขณะที่เรื่องเริ่มงวดและเห็นแววของโครงที่เธอวางไว้ให้ชีวิตของ "แม้นเมือง" ว่าให้เปลี่ยนตอนจบเสียใหม่ หากก็ไม่เป็นผล
ทั้งนี้ ปิยะพรให้รายละเอียดระหว่างไปร่วมกิจกรรม เสวนาพิพิธทัศนะ "กว่าจะมาเป็นรากนครา" ที่ ชมรมพิพิธสยาม จัดขึ้นเมื่อวันก่อนว่าที่ยืนยันอย่างนั้น เพราะอยากจะทำตามทุกสิ่งที่ได้วางเค้าโครงเรื่องมาอย่างดี
เรื่องที่เริ่มต้นจากการพูดถึงเจ้านางสองคนซึ่งถูกส่งไปทำหน้าที่ต่างเมืองเหมือนๆ กัน หากพวกเธอก็ประสบชะตากรรมที่แตกต่าง โดยปิยะพรเผยรายละเอียดว่า เธอได้แรงบันดาลใจในเรื่องดังกล่าว จากกรณีที่ พระสุพรรณกัลยา ถูกส่งตัวไปกรุงหงสาวดี จนนึกย้อนไปว่าจริงๆ แล้วในอดีต น่าจะยังมีกลุ่มผู้หญิงที่เสียสละตัวเองเพื่อค้ำจุนบ้านเมืองไว้เช่นกัน
และแม้จะเป็นนิยาย แต่ความที่เรื่องคล้ายๆ จะอิงกับประวัติศาสตร์ ปิยะพรจึงว่าพอหนังสือเล่มนี้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลซีไรต์ในปี 2543 เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็เกิดขึ้นทันที โดยนักวิชาการหลายคนมองว่า เธอกำลังจะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ ทั้งในประเด็นที่เรื่องเล่าว่าอังกฤษต้องการยึดครองดินแดนล้านนา ซึ่งเอาเข้าจริงก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน
นั่นเองที่ทำให้ "รากนครา" มีผู้หญิงเป็นตัวละครหลักของเรื่องเรื่องการระบุให้ "เจ้าศุขวงศ์" ถูกส่งตัวไปเรียนที่สิงคโปร์ ทั้งๆ ที่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าในยุคนั้นมีการส่งเจ้าเมืองใดไปเรียนที่นั่นจริงหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ปิยะพรบอกว่า ที่ระบุเช่นนั้นเพราะต้องการสื่อให้เห็นว่าตัวละครนี้มีความคิดที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย จึงจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสถานที่ตั้งของเมืองในเรื่องแล้ว "สิงคโปร์" น่าจะเหมาะที่สุด
"มันคือมิติของเรื่องแต่ง" เธอบอก
นอกจากเสียงชื่นชมในตัวละครที่กำลังออกอากาศทางช่อง 3 ณ ขณะนี้ อีกเสียงที่มาแบบคู่ขนานคือ ความไม่เข้าใจว่า ตัวละคร "ละอองคำ" จะถูกเพิ่มมาทำไม
"งานเขียนก็เป็นแบบหนึ่ง พอเป็นละครก็เป็นอีกชิ้นหนึ่ง" ปิยะพรบอก
ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่ต้องมีการปรับเพิ่ม หรือลด แต่ที่สำคัญคือแก่นเรื่องเดิมต้องคงอยู่
การเกิดขึ้นของตัว "ละอองคำ" ก็เพื่อย้ำให้เห็นว่าเจ้าศุขวงศ์นั้นรักเดียวใจเดียว
ขณะที่การเพิ่มฉากให้ "ข่ายคำ" ร่วมเดินทางไปส่ง "มิ่งหล้า" ที่เมืองมัณฑ์ ก็เพื่อให้มิ่งหล้าได้พูดในสิ่งที่ตัวเองคิด และแสดงตัวตนผ่านการโต้ตอบกับมารดา
ฉาก "เจ้านางปัทมสุดา" เล่นตุ๊กตากระดาษ ซึ่งในหนังสือไม่มีอยู่ แต่พงษ์พัฒน์ใส่ไปก็เพื่อแสดงนัยยะให้เห็นว่า เธอคือผู้ควบคุม เชิดชักองค์กษัตริย์ได้
ส่วนการเปลี่ยนแปลงฉากที่มิ่งหล้าบังคับให้แม้นเมืองสาบาน ก็ถูกเปลี่ยนสถานที่จากในห้อง ที่เมื่อมองออกไปนอกหน้าต่างจะเห็นเพียงภูเขาและได้ยินเสียงฟ้าร้อง เป็นตรงซุ้มบนสะพานทางเดินไปหอหลวง ซึ่งเป็นสถานที่กลางแจ้ง ซึ่งจะขับให้เห็นความยิ่งใหญ่ของภูเขาที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งจะส่งให้ภาพออกมาดูขลังและเสริมความรู้สึกศักดิ์สิทธิ์ของคำสาบานดังกล่าว
เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงจากบทประพันธ์สู่ละคร ซึ่งเธอย้ำอีกครั้งว่าสำหรับเธอนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก
"จริงๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ทุกวินาที"
กับทุกเรื่อง และทุกคน-เธอว่า
https://www.facebook.com/teeneedotcom