เปิดประวัติ...ต้นกำเนิดสมาคมเลือดมังกร!!!
หน้าแรกTeeNee บันเทิงดารา ข่าวดารา, ข่าวบันเทิง เรื่องย่อ ละครฮิต เปิดประวัติ...ต้นกำเนิดสมาคมเลือดมังกร!!!
เรื่องราวกำลังเข้มข้นกับเนื้อหาของการต่อสู้และหักหลังกันในสมาคมเลือดมังกร แต่ในละครเรื่องยาว 5 ตอนนี้ ได้กล่าวที่มาที่ไปของ สมาคมเลือดมังกร เพียงบางส่วน แฟนละครอาจจะจับต้นชนปลายไม่ถูก จะขอรวบรวมเนื้อหาและที่มาของสมาคมเลือดมังกร ตั้งแต่ต้นให้ฟัง -
สมาคมเลือดมังกร ถูกก่อตั้งโดย ผู้มีอิทธิพล มาเฟียใหญ่ชื่อ 'เฉินอี้เสียง' เป็นผู้ดูแลพื้นที่ในถิ่นที่คนจีนอาศัยอยู่ในพื้นแผ่นดินไทย แต่ดูเหมือนชะตากรรมจะเล่นตลก หนึ่งในลูกน้องของ 'เฉินอี้เสียง' ข่มขืนคนรักของอาเส็ง (มนตรี เจนอักษร) เมื่อพี่น้องร่วมสาบานกันเดือดร้อนทำให้ อาสุง (นพพล โกมารชุน)โกรธ และบุกไปแก้แค้น ก่อนอาสุงจะลงมือฆ่า 'เฉินอี้เสียง' เขาก็ได้รู้ว่า เฉินอี้เสียงเคยมีพระคุณช่วยชีวิตตนจึงไม่ได้ฆ่าเฉินอี้เสียง แต่จัดการฆ่าลูกน้องที่ข่มขืนคนรักของอาเส็ง
'เฉินอี้เสียง' ประทับใจในฝีมือของ อาสุง และ น้องร่วมสาบานทั้งสี่คน จึงชวนมาร่วมแก๊ง แต่อาสุงปฏิเสธ เพราะไม่เชื่อเรื่องการปกครองคนด้วยการใช้กำลัง แต่เชื่อว่า คนเราจะปกครองคน ต้องใช้ 'หลักเมตตา' เฉินอี้เสียงให้อาสุงพิสูจน์ในการใช้หลักเมตตาปกครองคน ถึงจะต้องใช้เวลาอยู่พักใหญ่ แต่อาสุงก็ได้พิสูจน์และทำให้เฉินอี้เสียงเห็น จนต้องยอมรับหลักเมตตาแทนการใช้กำลังปกครองคน
เฉินอี้เสียง อยากวางมือ และเดินทางไปใช้ชีวิตในเซียงไฮ้ จึง มอบตำแหน่ง 'นายกสมาคมเลือดมังกร' ให้อาสุงและน้องร่วมสาบานอีก 4 คนเป็นผู้ดูแล เพราะเขาเห็นว่ามีเพียงคนเดียวที่จะปกครองชาวเลือดมังกรได้อย่างสงบสุขและทดแทนบุญคุณแผ่นดินไทย...นั่นคือ 'อาสุง' และนี่เองคือต้นกำเนิดของแก๊งต่างๆ ในสมาคมเลือดมังกร
สมาชิกสมาคมเลือดมังกรรุ่นก่อตั้ง มีทั้งหมด 5 แก๊ง ปกครองโดย พี่น้องรวมสาบานทั้ง 5 ได้แก่
1. แก๊งหงส์ดำ - อาสุง (นพพล โกมารชุน) มีทายาทคือ หงส์ (เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ) เป็นหัวหน้าสมาคมเลือดมังกร บทบาทหลักๆ จะอยู่ในตอนหงส์
หงส์ เป็นตัวแทนของความเมตตา สัญลักษณ์ของความสง่างาม การเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดีและความดี 5 ประการ คือ คุณธรรม ยุติธรรม ศีลธรรม มนุษยธรรม และสัจธรรม
2. แก๊งเสือ - เซี๊ย (ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์) มีทายาทคือ ภรพ (อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม) บทบาทหลักๆ จะอยู่ในตอนเสือ
เสือ เป็นตัวแทนของอำนาจ ความซื่อสัตย์และการให้อภัย เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ปกป้องภูตผีปีศาจและคุ้มครองชีวิต
3. แก๊งเขี้ยวสิงห์ - ตง (ทรงศักดิ์ ศุภการ) มีทายาทคือ ทรงกลด (ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี) บทบาทหลักๆ จะอยู่ในตอนสิงห์
สิงห์ เป็นตัวแทนของความดีงาม เป็นเจ้าแห่งสัตว์ป่าที่มีอำนาจในภาคพื้นดิน ช่วยให้แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง
4. แก๊งกระทิง - เช็ง (ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี) มีทายาทคือ ธาม (เคน-ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์) บทบาทหลักๆ จะอยู่ในตอนกระทิง เช็งได้ตายไปหลายปีแล้ว ธามจึงเป็นคนแรกในกลุ่ม 5 ตัวเอกที่ได้เป็นหัวหน้าแก็ง
กระทิง เป็นตัวแทนของความดุดัน ตรงไปตรงมา และการให้อภัย อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคง ร่ำรวย และโชคดี
5. แก๊งเหยี่ยวแดง - เส็ง (มนตรี เจนอักษร) มีทายาทคือ คณิน (แอนดริว เกรกสัน) บทบาทหลักๆ จะอยู่ในตอนแรด ธุรกิจของเส็งจะอยู่ต่างจังหวัดเป็นหลัก ทำให้ไม่ค่อยได้โผล่หน้ามาร่วมกับพี่น้องเท่าไหร่
ส่วนคำถามที่คาใจคนดูละครส่วนมากคือ ตอนแรด เมื่อไม่ได้มีแก๊งแรด แล้ว แรดในที่นี้หมายถึงอะไร ต้องกล่าวถึงว่า แรด เป็นตัวแทนของความอดทน ที่เปรียบเสมือนหลักในการดำเนินชีวิต เป็นสัญลักษณ์ป้องกันภัยต่างๆ ถือเป็นแก่นหลักของเรื่องทั้งหมด แต่จริงๆแล้ว ตอนแรด เป็นตอนที่สะท้อนถึงบุคลิกความเจ้าชู้ประตูดินของ คณิน (แอนดริว เกรกสัน) อีกด้วย
สมาคมเลือดมังกร เติบโตด้วยการปกครองแบบเมตตา ด้วยชื่อเสียงที่โด่งดังทำให้อาสุง เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จนเขาได้พบกับเพื่อนที่เคยเป็นพี่น้องร่วมสาบานกันสมัยอดีต เมื่ิอออกจากคุก อาสุงจึงพาเต็กกับไช้มาอยู่ในสมาคมเลือดมังกร ภายใต้ชื่อ 'แก๊งสามวิหค' จะเห็นทั้ง 3 แก๊งนี้ได้ในตอน หงส์
6. แก๊งกระเรียน-เต็ก (ญาณี ตราโมท)
7. แก๊งไก่ฟ้า-ใช้ (สุเทพ ประยูรพิทักษ์)
8. แก๊งมังกรดำ - เล้ง (ชาตโยดม หิรัณรัษฐิติ) เล้ง ที่ขึ้นเรือสำเภามาด้วยกับ อาสุง มาขออยู่ในสมาคมเลือดมังกรในนาม หัวหน้าแก๊งมังกรดำ
หลังจากเล้ง ได้เข้ามามีบทบาทในสมาคมเลือดมังกร เล้งก็ได้ชักชวน เพื่อนฝูงเข้ามา สร้างแก๊งเป็นจำนวนมาก และส่วนมาก แก๊งเหล่านั้น ก็จะมีสมาชิกที่มีความทะเยอทะยานต้องการเป็นใหญ่ ทำให้มีการหักหลังกันเกิดขึ้นในสมาคมเลือดมังกร เป็นที่มาของเนื้อเรื่องในตอนต่างๆ
สมาชิกรุ่นที่ 2 เป็นสมาชิกใหม่ที่เพิ่มเข้ามาภายหลัง ส่วนใหญ่มาจากการชักชวนของเสี่ยเล้ง แก๊งมังกรดำ และแน่นอนส่วนใหญ่เป็นแก๊งฝ่ายอธรรม
9. แก๊งมังกรทอง - บันลือ (อนุวัฒน์ นิวาตวงศ์) ทายาทคือ วันวิสา (คิมเบอร์ลี่ แอน เทียมศิริ) มีบทบาทหลักๆ ในตอนเสือ ช่วงแรกจะไม่ค่อยถูกกับแก๊งเสือ
10. แก๊งหมีขาว - ประกิต (ศุกล ศศิจุลกะ) ทายาทคือ ประยูร (แอนดี้ เขมพิมุก) มีบทบาทหลักๆ ในตอนเสือ เคยพยายามเกี่ยวดองกับแก๊งมังกรทองโดยจะจับลูกแต่งกัน แต่ไม่สำเร็จ ช่วงแรกจะไม่ค่อยถูกกับแก๊งเสือ
11. แก๊งเต่ามังกร - เคี้ยง (ศานติ สันติเวชกุล) มีบทบาทหลักๆ ในตอนสิงห์ ไม่ค่อยถูกกับแก๊งเขี้ยวสิงห์
12. แก๊งค้างคาวบันลือ - เกา (ดิลก ทองวัฒนา) มีบทบาทในตอนหงส์ ไม่ค่อยถูกกับแก็งหงส์ดำ
สำหรับแก๊งที่ 13 - 20 ได้แก่ แก๊งอินทรี ,แก๊งหมูป่า ,แก๊งม้าป่า,แก๊งกวางสวรรค์, แก๊งพังพอน, แก๊งกระต่ายป่า, แก๊งกิเลน, แก๊งจิ้งจอกขาว ถูกกล่าวถึงแต่ไม่มีบทบาทในเรื่อง
ส่วน แก๊งหนูไฟ - เหลียง (สุเมธ องอาจ) มีบทบาทในตอนสิงห์ แต่ไม่มากนัก อาเหลียงเป็นลูกของอาม่า และเป็นพ่อของเว่ย หลังจากเหลียงตาย แก๊งหนูไฟก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของแก๊งเขี้ยวสิงห์อีกทีนึง ตอนหลังจึงไม่นับว่ามีแก๊งนี้อยู่
เรื่องราวการหักหลังของสมาคมเลือดมังกร ดุเดือดขึ้น เพราะสมาชิกแก๊งต่างๆ มีความต้องการที่จะปกครองในรูปแบบที่ต่างกัน เรื่องราวภายในละครเกิดขึ้นราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จุดเริ่มต้นของเรื่องคืองานวันสารทจีนเทกระจาด สำหรับซีรีส์เลือดมังกรในเวอร์ชั่นของผู้กำกับ อ๊อฟ พงษ์พัฒน์ จะดำเนินเรื่องด้วยความรักของพระเอกและนางเอก และมีฉากบู๊เข้ามาเพิ่มเป็นระยะ
ทราบที่มาที่ไปของต้นกำเนิดสมาคมเลือดมังกรแล้ว สามารถ ติดตาม ซีรีส์ “เลือดมังกร” ได้ทุกวันจันทร์ และ อังคาร เวลา 20.15 - 22.45 น. ทางไทยทีวีสีช่อง 3 และทีวีดิจิตอล ช่อง 3HD (ช่อง 33) และ www.thaitv3.com
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
https://www.facebook.com/teeneedotcom