วันวานถึงวันนี้ ‘ผู้แจ้งเกิด’ ตำนาน ‘อินทรีแดง’ ‘เริงชัย ประภาษานนท์’

เครดิตที่มา http://movie.mthai.com/movie-news/73812.html


 



ระยะนี้มีกระแสข่าวว่า “อินทรีแดง” ตำนาน “ซูเปอร์ฮีโร่เมืองไทย” ที่อยู่ในเวิ้งความทรงจำของไทยรุ่นเก่ายาวนานกว่า 50 ปี จะถูกปัดฝุ่นกลับมาโลดแล่นบนโลกมายาอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นแบบไหน-อย่างไรก็ต้องรอดูกันไป อย่างไรก็ตาม “อินทรีแดง” คงจะไม่อาจแจ้งเกิดได้ หากไม่มีนักประพันธ์รุ่นลายคราม เจ้าของนามปากกา “เศก ดุสิต” หรือชื่อ-นามสกุลจริง “เริงชัย ประภาษานนท์” คนนี้…



ฟ้าครึ้มฝนกลางบ่ายของวันต้นสัปดาห์  ในเดือนสิงหาคม เริงชัย ประภาษานนท์ หรือที่แฟนอาชญนิยาย ที่แฟนอินทรีแดง คุ้นเคยในชื่อ เศก ดุสิต เปิดบ้านต้อนรับทีม “วิถีชีวิต” (น.ส.พ. เดลินิวส์) และเริ่มที่การสัพยอกว่า ไม่บ่อยที่บ้านหลังนี้จะยอมรับแขกแปลกหน้า ซึ่งหลังเก็บตัวเงียบในช่วงหลายปีหลังมานี้ อาจารย์เริงชัยในวัย 81 ปี บอกเราว่า ชอบอยู่เงียบ ๆ ตามประสาคนแก่ โดยไม่ออกงานมานานแล้ว แม้แต่ตอนที่ได้รับรางวัลนราธิป ประจำปี 2552 ก็ไม่ได้เดินทางไปรับ ซึ่งช่วงนั้นไม่ค่อย  สบายด้วย จึงพยายามพักผ่อน และไม่เดินทางไปไหน หากไม่จำเป็น อีกทั้งนิสัยส่วนตัวที่ชอบอยู่บ้านเงียบ ๆ ทำงาน และอ่านหนังสือมากกว่า ประกอบกับหยุดเขียนหนังสือมาตั้งแต่ปี 2532 จึงทำให้ดูห่างหายไปจากวงการ


สาเหตุที่หยุดงานเขียน อาจารย์เริงชัยกล่าวว่า เพราะไม่มีความรู้สึกที่อยากจะเขียนนิยายต่อ อีกทั้งการทำงานในฐานะนักเขียนนั้น อาจารย์บอกว่า “เป็นงานที่หนัก เมื่อร่างกายไม่พร้อมก็ไม่ควรฝืน คนไม่เป็นนักเขียน ไม่มีวันรู้ซึ้งถึงความรู้สึก ของวันที่เขียนไม่ออกว่ามันอึดอัดขนาดไหน ก่อนที่จะหยุดเขียน ผมทำงานหนักมาก สัปดาห์หนึ่งต้องเขียนส่งตามนิตยสารถึง 5 เล่ม เขียน 5 เล่มก็ 5 ตอน เรียกว่าหนักเอาการ พอถึงจุดหนึ่งรู้สึกไม่อยาก เขียนอีก ก็เลยหยุดเขียน หันมาสนใจเรื่องอื่นแทน”

หลังหยุดเขียนนวนิยาย อาจารย์เริงชัยก็หันมาสนใจด้านโหราศาสตร์จริงจัง โดยปัจจุบันนอกจากเป็นคอลัมนิสต์แล้ว ในวันเสาร์-อาทิตย์ก็จะไปให้ความรู้ด้านโหราศาสตร์กับลูกศิษย์ลูกหาที่วัดไตรมิตรฯเป็นประจำ

“เรื่องแรกที่เขียนที่รวมเล่มคือเรื่อง นอกกฎหมาย ส่วนเรื่องสุดท้ายคือ เดือนเพ็ญ เป็นเรื่องชีวิต ไม่ใช่ เศก ดุสิต แต่ใช้นามปากกาว่า ศิรษา แทน ผมมีหลายนามปากกา จะใช้แตกต่างกันไปตามสไตล์งานเขียน ถ้าเขียนนิทานพื้นบ้านก็จะใช้ ลุงเฉื่อย ส่วนที่มาสนใจด้านโหร จริง ๆ มันเป็นเรื่องความคิดเด็ก ๆ คือไปเรียนลายมือ เพราะแค่อยากจะจับมือผู้หญิงเท่านั้น ทีนี้พอเรียนไปก็มีแง่มุมที่น่าสนใจ ทำไมชีวิตคนมันถึงหักเหได้ ก็เลยสนใจค้นคว้าต่อมาเรื่อย ผมไม่มีครูสอนจริงจังนะ ศึกษาจากตำราเป็นส่วนใหญ่”
อาจารย์เริงชัยกล่าว


กับตำนาน “อินทรีแดง” ตัวละครซูเปอร์ฮีโร่เลือดไทย ปัจจุบันถ้าจะนับวันเริ่มต้นที่อินทรีแดง ถือกำเนิดในรูปของตัวหนังสือ ในปี 2498 นับถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 55 ปี ถือเป็นหนึ่งในตัวละครอมตะในใจคนไทย ซึ่งกับเรื่องนี้อาจารย์เริงชัยในฐานะผู้ให้กำเนิดบอกว่า วันแรกที่เขียนไม่คิดว่าอินทรีแดงจะเดินทางมาได้ยาวไกลขนาดนี้ ตอนที่เขียน เพราะอยากตอบสนองแรงบันดาลใจของตนเอง ณ ขณะนั้น และทั้งที่เคยหยุดเขียนไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาเขียนใหม่ เพราะทนเสียงแฟนอินทรีแดงที่ส่งจดหมายเข้ามาขอร้องไม่ไหว จนเมื่อเกิดอุบัติเหตุกับพระเอกชื่อดัง ถึงทำให้อินทรีแดงมีโอกาสหยุดนิ่ง ทิ้งไว้เพียงร่องรอยในอ่าวความทรงจำ


“ตอนที่ มิตร ชัยบัญชา ตายนั่นแหละ ผมถึงได้หยุดเขียนอินทรีแดงเป็นการถาวร” อาจารย์เริงชัยกล่าว ก่อนเล่าว่า เขียนอินทรีแดงเพราะชอบบทบาท ของ ร็อก ฮัตสัน ในภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง จึงกลับมาคิดตัวละครเพื่อเขียนเป็นนวนิยายขึ้น มีตัวเอกชื่อ “โรมฤทธิไกร” กับคาแรกเตอร์สุภาพบุรุษในชุดหนังสีดำ ภายใต้ “หน้ากากอินทรีแดง” เรื่องราวขณะนั้นก็นำมาผูกเข้ากับสภาพปัญหาทางสังคม ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า การทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งกฎหมาย เอื้อมไม่ถึง จึงเป็นหน้าที่ของอินทรีแดงที่จะเข้าไปจัดการแทน


และจุดนี้นี่เองที่อาจเป็นปัจจัยทำให้ตัวละคร “อินทรีแดง” เข้าไปนั่งอยู่ในใจของคนไทยหลายคน นอกเหนือไปจากความคลั่งไคล้ในตัวพระเอก มิตร ชัยบัญชา ที่เป็นอีกปัจจัยประกอบกัน

“ผมเดาว่าที่คนชอบ เพราะอินทรีแดงเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับความ อยุติธรรม เป็นตัวแทนของคนที่อึดอัดกับสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้ และมีคนมาทำแทนให้ หรืออีกประการก็อาจเป็นเพราะยุคนั้นเป็นยุคทองของหนังบู๊ เผอิญหนังบู๊ที่มีมาก่อนอินทรีแดงจะเป็นหนังเกี่ยวกับแก๊ง แค่ต่อยตี แต่อินทรีแดงจะไม่ธรรมดา จะมีลีลา มีลูกเล่นเยอะ คนก็เลยมองว่าเรื่องมันแปลก ใหม่ คนก็เลยชอบกัน”

จากบทประพันธ์ที่เป็นตัวหนังสือ ในที่สุดก็มีโอกาสโลดแล่นมีชีวิตในรูปแบบของภาพยนตร์ แต่กว่าจะออกมาโลดโผนได้ก็ไม่ง่าย ต้องรอเวลา จนที่สุดก็กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ชื่อของ “เศก ดุสิต-มิตร ชัยบัญชา-อินทรีแดง แทบไม่ขาดออกจากกัน” ซึ่งอาจารย์เริงชัยเล่าว่า ตอนนั้นบทประพันธ์อินทรีแดงได้รับความสนใจจากผู้สร้างภาพยนตร์หลายคน ที่เข้า มาติดต่อขอซื้อ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะตนค่อนข้างหวงและรักตัวละครตัวนี้มาก ทุกครั้งที่มีคนจะซื้อ จะถามเสมอว่าใครเป็นพระเอก ถ้าคิดว่าไม่เหมาะก็ไม่ขายให้ จนได้มาผลิตในยุค มิตร ชัยบัญชา จากตอนที่ชื่อว่าจ้าวนักเลง ในปี 2502


“ยอมรับว่าค่อนข้างหวง เพราะคนที่จะเล่นเป็นอินทรีแดง ไม่ใช่ใครที่ไหนจะมาเล่นก็ได้ แต่ต้องมีบุคลิกที่รับกับบทประพันธ์ที่วาดไว้ ตอนนั้นมีคนมาขอซื้อหลายราย แต่ผมหวงตัวละครนี้มาก จะถามว่าใครจะเป็นอินทรีแดง มีรายหนึ่งเขาบอกว่าจะให้ ไชยา สุริยัน เล่น ผมก็บอกว่าเอาไว้ก่อนแล้วกัน คือคิดว่ายังไม่เหมาะ ทั้งที่ตอนนั้นไชยากำลังดังมาก ๆ แต่ก็ไม่ให้ มีอีกเจ้าหนึ่งเขาก็มาติดต่อ ก็ถามแบบเดิม เขาบอกว่าจะให้ มิตร ชัยบัญชา เล่น ผมก็บอกว่าคนที่เล่นเรื่องชาติเสือนะหรือ เขาก็บอกใช่ บอกว่าจะพามาให้ดูตัว


ตอนนั้นมิตรยังไม่ดังเลย วันที่มาผมมองเขา   ตั้งแต่ประตูบ้าน ดูท่าทางการเดิน บุคลิก การพูดการจา และเขาทำให้เห็นว่าเขาอ่าน เขารู้จักตัวละครนี้นะ ผมก็มองว่าบุคลิกได้ ซึ่งคนที่จะเล่นอินทรีแดงต้องสวมหน้ากาก มันต้องรับกับหน้า ผมก็เลยบอกเขาไปว่า เอา ล่ะ คุณคืออินทรีแดงของผม ก็ยกให้เขาไปทำ แต่ตอนทำก็กลับเบนเรื่อง มาขอเอาตอนใหม่ไปทำคือจ้าวนักเลง ก็ถือว่าเป็นเรื่องแรกที่แจ้งเกิดเต็มตัวให้กับมิตรเขา”


เศก ดุสิต, มิตร ชัยบัญชา และอินทรีแดง ยังเดินคู่กันต่อเนื่อง หากแต่ตัวละครตัวนี้นอกจากจะเป็นบทแจ้งเกิดให้พระเอกตลอดกาล แต่ก็เป็นตัวละครสุดท้ายของ มิตร ชัยบัญชา ด้วย โดยอาจารย์เริงชัย ระลึกย้อนให้ฟังว่า ตอนที่มิตรเสียชีวิตจากการแสดงภาพยนตร์เรื่องอินทรีทอง ในปี 2513 นั้น ตอนนั้นกำลังเขียนบทอยู่ คือบทอินทรีทองยังไม่สมบูรณ์ แต่มิตรต้องการจะสร้างเลย ก็ต้องไปนั่งเขียน ที่บังกะโลแถบศรีราชา ใกล้กับสถานที่ถ่ายทำ อินทรี ทองตอนนั้นจึงเป็นไปแบบ…เขียนไปและถ่ายไป


“เรื่องนี้มิตรเขากำกับการแสดงเองเป็นเรื่องแรก ผมก็ต้องนั่งเขียนบทในบังกะโล โดยทุก ๆ เย็นมิตรเขาจะเข้ามาเอาบท มาปรึกษา พอตอนเช้าก็ไปถ่ายต่อ ทีนี้เขาเป็นผู้กำกับการแสดง เขาก็มีสิทธิที่จะแก้บทได้เหมือนกัน เราก็ไม่รู้ เขาก็ไปเพิ่มฉากโหนเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเป็นความประมาท ถ้าเขาไม่ประมาทก็ไม่เป็นไร ก็ถึงคราว ผมก็ได้แต่เสียใจ ก็ถือว่าปิดตำนานอินทรีแดง คือจบเลย ปิดฉาก ผมก็ไม่เขียนต่อแล้ว”


ภาพ มิตร ชัยบัญชา ขณะโหนเฮลิคอปเตอร์


ดูเหมือนว่าหลังจากยุคอินทรีแดง วงการภาพยนตร์ไทย ก็แทบจะไม่ปรากฏตัวละครมาดซูเปอร์ฮีโร่เลือดไทยตัวไหนอีก แม้จะมีความพยายามในการผลิตขึ้น เพื่อทดแทนตัวละครอินทรีแดง แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้รับการตอบรับมากเท่าใดนัก ไม่เหมือนตัวละครอย่าง โรม ฤทธิไกร และ อินทรีแดง ซึ่งนี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวละครซูเปอร์ฮีโร่นี้ สามารถที่จะตรึงอยู่ใน ความทรงจำของ คนไทยได้ยาวนาน


“ทำไมอินทรีแดงถึงยังคงตรึงอยู่ในความทรงจำคนไทยได้นานขนาดนี้ คงเป็นเพราะพฤติกรรม ของอินทรีแดง และการที่เขามีโอกาสที่จะปรากฏโฉมกับผู้คนไม่ค่อยขาด จะมีทุกยุค คนก็เลยรู้จักอยู่ เหมือนโกโบริ อีกอย่างผมว่าอินทรีแดงเป็นตัวแทนของสัญลักษณ์บางอย่าง เป็นตัวแทนจิตใจของคนที่อึดอัดกับภาวะที่มีคนร้าย มีการทำผิดกฎหมาย แล้วทางการทำอะไรไมได้ ให้อินทรีแดงไปทำแทนให้ จุดนี้แหละที่มันอาจเป็นจุดที่ผ่อนคลายคนได้ เรื่องมันก็ไม่มีอะไรมากมาย ผมว่าเป็นไปตามธรรมชาติของคนมากกว่า ถามว่าผมภูมิใจกับตัวละครตัวนี้ไหม ก็ต้องตอบว่าที่สุด เพราะอินทรีแดงทำให้คนเขาเชิดชูผมไปด้วย ซึ่งตัวละครตัวนี้ก็อยู่มานานกว่า 50 ปี ตัวผมเองก็อายุมากแล้ว ซึ่งผมเองก็ไม่รู้ว่าเขาจะอยู่กับผมไปได้อีกสักกี่ปี” อาจารย์เริงชัยกล่าว


เป็นเรื่องไม่ง่ายนัก ที่ตัวละครสายเลือดไทย-ซูเปอร์ฮีโร่พันธุ์ไทยแท้ จะสามารถอยู่ยงคงกระพันในความรู้จักของคนไทย ท่ามกลางมรสุมจากเหล่าซูเปอร์ฮีโร่สายเลือดต่างชาติ ที่ถาโถมเข้าใส่มากมาย หรือ “อินทรีแดง” จะเป็นหนึ่งใน “ฮีโร่ เนเวอร์ ได (Hero Never Die)” ไม่มีวันตาย อย่างที่หลายคนคิด.


ทำไมต้องเป็น ‘อินทรี’


“ทำไมต้องเป็นอินทรีแดง?” ประเด็นนี้อาจารย์เริงชัยเล่าว่า เพราะตนเองรักนกอินทรี และคิดว่านกอินทรีเป็นพญานกในบรรดาสัตว์ปีก รองลงมาจากครุฑ แต่ครั้นเมื่อเป็นนวนิยาย การนำครุฑมาเป็นหน้ากาก ดูจะไม่เหมาะสม จึงเลือกใช้อินทรีเป็นตัวแทนของการต่อสู้


“ใจผมรักคำว่าอินทรี คือเอาละ สิงโตก็เป็นเจ้าป่า แต่ผมว่าเอามาทำหน้ากากมันดูไม่สวย สู้อินทรีสยายปีกไม่ได้ ผมก็ลองวาดรูปเล่น ๆ ออกแบบดู พอออกมาก็ชอบใจ ผมว่าสัญลักษณ์นี้มันมีความหมายดี มีผลกับความรู้สึกคนมาก ไม่งั้นใครต่อใครคงไม่เอาไปเป็นสัญลักษณ์กันไปทั่วแบบปัจจุบันนี้” อาจารย์เริงชัยกล่าว


ศิริโรจน์ ศิริแพทย์


ที่มา : เดลินิวส์



อนันดา ในบท อินทรีแดง ปี 2010



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์