เปิดบันทึกชีวิตมิตร ชัยบัญชา: ประวัติ มิตร ชัยบัญชา


ชีวิตช่วงแรกและการศึกษา

มิตร ชัยบัญชา
เกิดที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรชายของพลฯ ชม ระวีแสง ตำรวจชั้นประทวน กับนางยี หรือ สงวน ระวีแสง สาวตลาดท่ายาง นางยีให้กำเนิดลูกน้อย ขณะที่สามีไม่ได้ดูแลใส่ใจเพราะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ

มิตร ชัยบัญชา เดิมเรียกกันว่า "บุญทิ้ง" เพราะพ่อแม่แยกทางกัน เมื่อมิตร ชัยบัญชาอายุได้ 1 ขวบ นางยีก็เข้ามาเป็นแม่ค้าขายผักในกรุงเทพ โดยฝากลูกชายไว้กับนายรื่นและนางผาด ซึ่งเป็นปู่และย่าของมิตร ชัยบัญชา ที่หมู่บ้านไสค้าน เมื่อนายรื่นและนางผาด เห็นว่าตนอายุมากขึ้นทุกวัน จวนจะเป็นไม้ใกล้ฝั่งเข้าทุกที จึงฝากเลี้ยงไว้กับสามเณรแช่ม ระวีแสง ผู้เป็นอา ซึ่งบวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดท่ากระเทียม ชีวิตในวัยเด็กของมิตร ต้องติดสอยห้อยตามสามเณรแช่มซึ่งต่อมาบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดสนามพราหมณ์ เป็นเด็กวัดที่อาศัยข้าวก้นบาตรกิน ในเพลง"ข้าวก้นบาตร" ที่แต่งโดย สมโภชน์ ล้ำพงษ์และ บำเทอง เชิดชูตระกูล มีเนื้อเพลงบางท่อนกล่าวถึงชีวิตของ มิตร ชัยบัญชาในช่วงนี้


มิตร ชัยบัญชา สมัยเรียนอยู่โรงเรียนฝึกการบินต่อมา ได้เข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดไสค้าน และย้ายมาที่โรงเรียนประชาบาลวัดจันทร์ เมื่อมารดามีฐานะดีขึ้นจึงมาขอรับมิตรย้ายมาอยู่กรุงเทพ ที่บ้านย่านนางเลิ้ง เยื้องกับวัดแคนางเลิ้ง เมื่ออายุประมาณ 9 ปี เข้าเรียนที่โรงเรียนไทยประสาทวิทยา ถนนกรุงเกษม โดยเป็นบุตรบุญธรรมของน้ากับน้าเขย จากชื่อ บุญทิ้ง มาเป็น สุพิศ นิลศรีทอง (นามสกุลน้าเขย) และ สุพิศ พุ่มเหม (นามสกุลของนายเฉลิมพ่อเลี้ยง) เมื่อโอนกลับมาเป็นบุตรบุญธรรมของแม่กับพ่อเลี้ยง หลังเรียนจบมัธยม ก่อนเข้าโรงเรียนจ่าอากาศ มิตรเป็นเด็กเรียนดี เก่งศิลปะ งานช่าง และ ภาษาอังกฤษ นอกจากการเรียนและทำงานรับจ้างสารพัดแล้วมิตรก็เลี้ยงปลากัด ช้อนลูกน้ำขาย รวมถึงนำจักรยานเก่ามาซ่อมให้เช่าหัดถีบ เพื่อหาเงินใช้เองโดยไม่ต้องพึ่งครอบครัว เนื่องจากแม่มีหลานหลายคนที่ต้องดูแล




นอกจากนี้ยังชอบเล่นกีฬา และ หัดชกมวยไว้ป้องกันตัว ทั้งนี้เขาสามารถคว้าเหรียญทองมวยนักเรียน 2 ปี ในรุ่นเฟเธอร์เวท และ ไลท์เวท (135 ปอนด์) พ.ศ. 2492 และ พ.ศ. 2494 จากนั้น เขาได้ย้ายไปอยู่โรงเรียนปริยัติรังสรรค์ จังหวัดเพชรบุรีอยู่ระยะหนึ่ง แล้วเรียนต่อระดับเตรียมอุดมที่ โรงเรียนพระนครวิทยาลัย และลาออกเพื่อมาสมัครสอบเข้าโรงเรียนจ่าอากาศ เพื่อรับราชการทหารอากาศ จังหวัดนครราชสีมา เพราะอยากเป็นนักบิน เริ่มการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2497 เป็นนักเรียนการบินรุ่นที่ ป.15 ของโรงเรียนการบินโคราช และ นักเรียนจ่าอากาศ เหล่าอากาศโยธิน รุ่นที่ 11 สำเร็จการศึกษา เดือนมีนาคม พ.ศ. 2499 ติดยศจ่าอากาศโท เมื่อ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 จนได้เป็นครูฝึกที่กองพันต่อสู้อากาศยาน กรมอากาศโยธิน กองทัพอากาศดอนเมือง จึงเปลี่ยนชื่อเป็นจ่าอากาศโทพิเชษฐ์ พุ่มเหม

เมื่อ พ.ศ. 2499 จ่าโทสมจ้อยได้ส่งรูปและแนะนำมิตร ชัยบัญชา หรือ จ่าเชษฐ์ ในขณะนั้น ให้รู้จักกับ ก. แก้วประเสริฐ เพื่อให้เล่นหนังเพราะเห็นท่าทาง รูปร่างหน้าตาที่หล่อและสูงสง่าของมิตร ประกอบกับบุคลิกภาพที่สุภาพอ่อนโยน กระทั่งได้พบกับ ภราดร ศักดา นักเขียนนวนิยายชื่อดัง ภราดรได้เสนอกับผู้สร้างหนังหลายราย จ่าสมจ้อยและจ่าเชษฐ์ก็ไปถ่ายรูปและส่งไปตามโรงพิมพ์ โดยกิ่ง แก้วประเสริฐเป็นผู้พลักดันพาไปพบผู้สร้างหนังรายต่างๆ ตามกองถ่าย เพราะเห็นความตั้งใจจริงของจ่าเชษฐ์ รวมถึงส่งภาพให้ผู้สร้าง และ ถ่ายภาพลงประกอบนวนิยายในนิตยสารด้วย จนกระทั่งได้รับการตอบรับให้เป็นพระเอกในภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง แต่ต้องทำใจปฏิเสธไปเพราะติดราชการสำคัญ ไม่สามารถไปพบผู้สร้างได้ หลังจากนั้นก็มักได้รับการปฏิเสธ ติจมูก ติโหนกแก้ม โดยเฉพาะเรื่องความสูง ที่จะหานางเอกมาเล่นด้วยลำบาก และจ่าเชษฐ์เองก็ไม่รับเล่นบทอื่นด้วย นอกจากพระเอก

ต่อมาได้พบกับ สุรัตน์ พุกกะเวส จนกระทั่งนัดให้ กิ่ง แก้วประเสริฐ พาจ่าเชษฐ์ ไปพบทีมงานผู้สร้าง ชาติเสือ ซึ่งวางตัวเอกไว้แต่แรก หลายคนรวมทั้ง ชนะ ศรีอุบล แต่ ประทีป โกมลภิส ไม่ถูกใจเลยสักคน ต้องการดาราหน้าใหม่ ซึ่งเมื่อพบแล้วทั้งผู้สร้าง ผู้กำกับ ก็พอใจบุคลิก ลักษณะ ของจ่าเชษฐ์ จึงได้รับจ่าเชษฐ์เข้าสู่วงการหนังไทย และตั้งชื่อให้ใหม่ โดยเมื่อประทีปตั้งคำถามให้ตอบ

ข้อ 1 "ในชีวิตสิ่งใดสำคัญที่สุด" มิตรตอบว่า "เพื่อนครับ" ประทีปบอกว่า "เพื่อน คือ มิตร เมื่อรักเพื่อนก็เก็บเพื่อนไว้กับตัว งั้นดีให้ใช้ชื่อใหม่ว่า 'มิตร' ก็แล้วกัน" (เป็นที่มาของชื่อ มิตร)
ข้อ 2 "ในชีวิตเกิดมาภูมิใจสิ่งใดมากที่สุด" มิตรตอบอย่างไม่ลังเลว่า "ได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพลในพิธีสวนสนามวันปิยมหาราชครับ" เพราะมิตรได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพล ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติยศสูงสุด และเขาได้ทำหน้าที่นี้ทุกปีตลอดการเป็นทหารของเขา (เป็นที่มาของนามสกุล "ชัยบัญชา")




ก้าวสู่วงการแสดง

ภาพยนตร์ ชาติเสือ บทประพันธ์ของ เศก ดุสิต กำกับโดย ประทีป โกมลภิส เป็นเรื่องแรกที่มิตรได้ประกบกับนางเอกที่มีชื่อเสียงในขณะนั้นถึง 6 คน เช่น เรวดี ศิริวิไล นัยนา ถนอมทรัพย์ ประภาศรี สาธรกิจ และ น้ำเงิน บุญหนัก เป็นภาพยนตร์ที่เริ่มถ่ายทำในปลาย พ.ศ. 2500 และเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2501 ภาพยนตร์ทำรายได้กว่าแปดแสนบาท ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมากของสมัยนั้นทำให้ชื่อของ มิตร ชัยบัญชา เป็นที่รู้จักของประชาชน

มิตร ชัยบัญชาในบท อินทรีแดง เรื่อง จ้าวนักเลงมิตรโด่งดังเป็นอย่างมาก จากบท "โรม ฤทธิไกร" หรือ "อินทรีแดง" ในภาพยนตร์เรื่อง จ้าวนักเลง (2502) ซึ่งเป็นบทที่มิตร ชัยบัญชา ต้องการแสดงเป็นอย่างมากหลังจากได้อ่านหนังสือ จนทีมผู้สร้าง ชาติเสือ ตัดสินใจไปพบ เศก ดุสิต พร้อม มิตร ชัยบัญชา เพื่อขอซื้อเรื่องมาทำเป็นภาพยนตร์ เศก ดุสิต พูดต่อมิตร ชัยบัญชาว่า "...คุณคือ อินทรีแดง ของผม..." ซึ่งภาพยนตร์ทำรายได้มากและมีภาพยนตร์ภาคต่อหลายเรื่อง ต่อมามีภาพยนตร์สร้างชื่อเสียงให้มิตรอีกหลายเรื่อง เช่น เหนือมนุษย์ แสงสูรย์ ค่าน้ำนม ร้ายก็รัก ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งเก้า หงษ์ฟ้า ทับสมิงคลา ในปี พ.ศ. 2502 (ปีเดียวกับที่สร้างภาพยนตร์ จ้าวนักเลง)

พ.ศ. 2505 มิตรร่วมกับเพื่อนในวงการภาพยนตร์ เช่น อนุชา รัตนมาล แดน กฤษดา ไพรัช สังวริบุตร จัดตั้ง วชิรนทร์ภาพยนตร์ สร้างภาพยนตร์ 2 เรื่อง คือ ยอดขวัญจิต และ ทับสมิงคลา (ภาคหนึ่งของอินทรีแดง)

พ.ศ. 2506 มิตร ชัยบัญชา ก่อตั้ง ชัยบัญชาภาพยนตร์ ของตัวเอง สร้างภาพยนตร์เรื่อง เหยี่ยวดำ (ครุฑดำ) ซึ่งแม้ว่าชื่อเรื่องจะมีปัญหา แต่มิตรก็ฝ่าฟัน ลงทุนแก้ไข จนออกฉายได้ โดยไม่ขาดทุน ท่ามกลางความเห็นใจของประชาชนและผู้อยู่รอบข้าง มีการกล่าวกันว่า ถ้าไม่ใช่หนังของ มิตร ชัยบัญชา คงจะล่มขาดทุนไปแล้ว




ข้อมูล
วิกิพีเดีย


เครดิต :
เครดิต : ที่นี่ดอทคอม บันเทิงดารา


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์