วิจารณ์กระหน่ำชุดประจำชาติ นาฏยมาลี Miss Universe Thailand


แล้วเรื่อง ชุดประจำชาติ (national costume) ที่นางงามสวมใส่เพื่อใช้ประกวดบนเวทีระดับนานาชาติ อาทิ มิสยูนิเวิร์ส และ มิสเวิลด์

 ก็มีปัญหาและเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง ไม่รู้เป็นครั้งที่เท่าไร แต่ครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ต้องถือว่าแรงมาก!!!

จริงๆการวิจารณ์บางเรื่องก็มีเหตุผลรับได้ อย่างในการประกวดระดับนานาชาติ ปีที่ แทน-ธัญญา สื่อสันติสุข มิสไทยแลนด์เวิลด์ ปี 1997 ซึ่งไปประกวดมิสเวิลด์ ปี 1997 ที่เกาะเซเชลล์ ประเทศอินเดีย ใช้ชุดที่ทำจากขนนกยูงเป็นชุดประจำชาติไทย ก็ถูกนักอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าประท้วง กระทั่งต้องเปลี่ยนมาสวมชุดราตรีแทน แม้จะมีกระแสลบแต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการประกวด น้องแทนสามารถฝ่าด่านเข้ารอบ 5 คนสุดท้ายได้ พร้อมกับคว้ารางวัลนางมิตรภาพ กลับมาฝากคนไทย

ส่วน น้อด-ชนันภรณ์ รสจันทร์ มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ปี 2548 เข้าร่วมประกวด มิสยูนิเวิร์ส ปี 2005 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ ถูกเพื่อนๆ นางงามกังขากับชุดประจำชาติไทย โดยประยุกต์จากสมัยอยุธยา ที่ดูเรียบง่ายไม่โดดเด่นเตะตา แต่สุดท้ายก็ได้รับรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยม

แต่ถ้าในระดับประเทศ เอาแค่ในยุคหลัง ๆ เห็นจะเป็นเวที มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส หรือเปลี่ยนเป็น มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ในปัจจุบัน ของ คุณแดง-สุรางค์ เปรมปรีดิ์ มากกว่า เนื่องจากเวที มิสยูนเวิร์ส มีการจัดประกวดชุดประจำชาติยอดเยี่ยมด้วย จึงต้องพิถีพิถันสร้างสรรค์กันสักหน่อย เพราะที่ผ่านมาไทยคว้ารางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมจากเวทีนี้มาถึง 5 ครั้ง (ยังไม่นับอันดับรองๆ ) แพ้โคลัมเบียประเทศเดียวที่ได้แชมป์ 6 ครั้ง

เริ่มจาก กวาง-ฟ้ารุ่ง ยุติธรรม มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ปี 2550 กับชุดชาวเขา ที่มีผู้วิจารณ์ว่า ชาวเขาแค่ชนเผา ไม่ควรจะนำมาเป็นชุดประชาติ เหตุผลพอ ๆ กับ ญ.งามท้องถิ่นสุวรรณภูมิ ชุดเผ่ากะเหรี่ยงคอยาว ของ ไข่มุก-ชุติมา ดุรงค์เดช มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ปี 2552

ถัดมาคือ ชุดเหมราชนารี ของ ฟ้า-ชัญษร สาครจันทร์ มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ปี 2554 ถูกค่อนขอดว่า ชุด มีหัวแหลมตรงหน้าอกเหมือนกับชุดเลดี้กาก้า

ชุดโลหะพัสตรา ของ ลิด้า-ณัฐพิมล นาฏยลักษณ์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2555 ที่มีการจำลองโลหะปราสาทสวมไว้บนศีรษะ ก็ถูกวิพากษ์ว่า เหมือน ศาลพระภูมิ มากกว่า

รวมถึงกรณีร้อนฉ่ากับชุดประจำชาติ นาฏยมาลี ที่ให้ ริดา-ชาลิตา แย้มวัณณังค์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2556 ใส่ชิงชุดประจำชาติยอดเยี่ยมบนเวที มิสยูนิเวิร์ส ปี 2013 ที่รัสเซีย ซึ่งจะประกวดกันในวันที่ 9 พ.ย.56 แต่ตอนนี้ถูกถล่มยับบนโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก ถึงความไม่สวยงาม และไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นชุดประจำชาติ เหมือนคลุมเครื่องอัฐบริขารงานบวช หรือเหมือนชุดละครแก้บน เพราะมีพู่ มีอุบะร้อยเป็นสายๆ

บ้างก็วิจารณ์แรงถึงขั้นว่า... อย่างนี้ ให้ไปยืมชุดโก๊ะตี๋ใส่ ยังดีกว่า!!!

เรียกว่าปีนี้เป็นอีกปีที่ชุดประจำชาติโดนถล่มยับ... และเละสุดๆในโลกออนไลน์

จะว่าไปแล้ว ในยุคหลัง คือตั้งแต่ ปี 2551 เวทีของ คุณแดง-สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ได้เปิดศักราชใหม่ของการออกแบบชุดประจำชาติ แต่เดิมผูกขาดกับบุคคล เปลี่ยนมาเป็นให้คนทั่วไปออกแบบส่งเข้ามาประกวด เพื่อตัดเป็นชุดจริง โดยดีไซเนอร์ชื่อดัง นานารถ จิรกิตติ แห่งห้องเสื้อ โนริโกะ เป็นผู้ตัดเย็บ

นับว่าสร้างความฮือฮาอย่างมาก เพราะเพียงแค่ปีแรกที่เปิดโอกาสให้ผู้คนทั่วไปออกแบบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นยังก์ดีไซเนอร์ สามารถคว้ารางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จบนเวที มิสยูนิเวิร์ส ปี 2008 ณ ประเทศเวียดนาม ผู้สวมใส่คือ แก้ม-กวินตรา โพธิจักร มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2551 กับผลงานชื่อชุดมวยไทย Spirit of Fighting หลังจากที่เราเคยรับรางวัลนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อ ปี 2548 แต่มิวายมีเสียงวิจารณ์เล็ก ๆ ก่อนหน้านั้นว่า ชุดมวยไทยไม่เรียกว่าชุดประจำชาติ!!!

หลังจากนั้นก็มาปี 2553 ชุดสยามไอรยา ที่ ปุ๊กลุ๊ก-ฝนทิพย์ วัชรตระกูล มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ปี 2553 คว้ารางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส ปี 2010 ที่เมืองลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา... รวมเบ็ดเสร็จนับเป็นครั้งที่ 5 ที่ไทยคว้ารางวัลนี้มา

เรื่องของชุดประจำชาติจึงเป็นความคาดหวังของคนไทยค่อนประเทศมาตลอดในระยะหลังๆ

แต่การเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามาออกแบบชุดประจำชาติ เสมือนเป็น “ดาบสองคม” คมหนึ่งคือได้ไอเดียเก๋ๆ จนคว้ารางวัลชนะเลิศและอันดับรอง ๆมาครองอย่างที่ปรากฏ ทำเอาเจ้าประจำที่เชี่ยวชาญและเคยออกแบบชุดประจำชาติถึงกับหงายหลังตึง ส่วนอีกคมหนึ่ง เมื่อมีการตัดสินการออกแบบแล้วมักมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาตลอด เบาบ้าง หนักบ้าง

สรุปปัญหาที่เกิดขึ้น การเข้าใจความหมายหรือนิยามของคำว่า “ชุดประจำชาติไทย” ไม่มีความเป็นเอกลักษณ์หรือเกิดอัตลักษณ์ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะมีผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ชุดประจำชาติในระยะหลังน่าจะเรียกว่า “ชุดประจำชาติยังก์ดีไซเนอร์”

หรือควรเรียกว่า “ชุดเอกลักษณ์ไทย” มากกว่า

จากข้อมูลที่สืบค้นมาเกี่ยวกับเรื่องชุดแต่งกายประจำชาติของสตรีไทย หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการการว่า “ชุดสตรีไทยพระราชนิยม” โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมี พระราชดำริ เรื่องการแต่งกายประจำชาติของสตรีไทย ตั้งแต่คราวเสด็จฯ เยือนประเทศเพื่อนบ้านเป็นครั้งแรก สมัยนั้นยังไม่มีชุดไทย ต่างๆ ตามพระราชนิยม ได้ทรงคิดใช้ ไหมไทย ผ้าไทย และ ผ้ายกต่างๆ มาประดิษฐ์ตกแต่งเป็นฉลองพระองค์ เพื่อให้แสดงถึงความเป็นไทย ทรงเจริญรอยสมเด็จพระพันปีหลวง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เรื่องการใช้ฉลองพระองค์ ทรงให้ ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์และการแต่งกายของสตรีไทยสมัยโบราณมาประยุกต์ และทรงกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อ ชุดไทยนี้ขึ้นตามแบบต่างๆ ซึ่งได้แนวคิดจากชื่อพระตำหนักและพระที่นั่ง อาทิ ไทยอมรินทร์,ไทยจิตรลดา,ไทยบรมพิมาน,ไทยจักรพรรดิ,ไทยจักรี,ไทยเรือนต้น,ไทยศิวาลัย และ ไทยดุสิต

ทั้งนี้ชุดแต่งกายประจำชาติของสตรีไทยจะนิยมสวมใส่ในงานพิธี หรืองานพระราชพิธ ีต่างๆ เช่น งาน พิธีหมั้น งานพิธี มงคลสมรส เป็นชุดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ มีหลายรูปแบบ ตัดเย็บด้วยผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าใยประดิษฐ์ อาจเป็นผ้าพื้น ผ้าลายดอก ผ้าลายริ้ว ผ้ายกดิ้น เงินดิ้นทอง หรือ ผ้ายกดอกเต็มตัว ใช้วัสดุเกาะ เกี่ยวข้อง ที่เหมาะสม เช่น ซิป ตะขอ กระดุม ที่ห่อหุ้มจากผ้าตัวเสื้อ อาจตกแต่งให้สวยงามด้วยการปักมุก เลื่อม ลูกปัด

ที่ผ่านมาชุดสตรีไทยพระราชนิยม เคยถูกนำมาประยุกต์จนได้รับรางวัลชุดประชาติยอดเยี่ยมมาแล้ว โดยเฉพาะเวทีมิสยูนิเวิร์ส เมื่อ ปี 1988 ที่ไต้หวัน เป็นชุดไทยประยุกต์ เป็นแบบที่มาจากฉลองพระองค์ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดย ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก นางสาวไทย ปี 2531 ซึ่งเธอคว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์สมาได้ด้วย กับปีถัดมา ปี 1989 ยลดา รองหานาม นางสาวไทย ปี 2532 คว้ารองอันดับ 1 บนเวทีมิสยูนิเวิร์ส และ อรอนงค์ ปัญญาวงศ์ นางสาวไทย ปี 2535 รองอันดับ 2 ชุดประจำชาติยอดเยี่ยม เวทีมิสยูนิเวิร์ส ปี 1992

ถึงวันนี้คนไทยก็ยังคงเป็นคนคิดมากคิดมาย คิดเยอะคิดแยะ กระทั่งเรื่องไม่เป็นเรื่องก็กลายเป็นเรื่อง บางครั้งก็ “น้ำผึ้งหยดเดียว” เป็นเรื่องลุกลามใหญ่โต โดยเฉพาะในยุคฮิตโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก การสื่อสารเร็วยิ่งกว่าอะไร ทว่าท้ายที่สุดคนไทยลืมง่าย หรือพอมีเรื่องอะไรที่น่ายินดี เช่น ชุดประจำชาติไทย ด่ากร่นกันยับ แต่พอได้รับรางวัลก็เงียบกริบ หรือ ยอมกลืนน้ำลายตัวเอง เปลี่ยนมาชื่นชมซะอย่างนั้น หรือปากก็ว่าคนอื่นไม่ชาตินิยมรักความเป็นไทย แต่ตนเองกลับแบรนด์เนม

แต่สำหรับกรณีชุดประจำชาติที่นางงามจะต้องใส่ไปแข่งขันในฐานะตัวแทนของประเทศนั้น ปัญหาสำคัญที่ผู้ที่เกี่ยวข้องควรตระหนักก็คือ หากจะเรียกว่าชุดประจำชาติ ผู้ที่จะเข้ามาประกวด โดยเฉพาะบรรดายังก์ดีไซเนอร์ทั้งหลาย จะคิดเพียงแค่ไอเดียในการออกแบบให้ดูแหวกไว้ก่อน.. แค่นั้นไม่พอแน่

แต่ควรจะเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องชุดประจำชาติ ชุดไทย เป็นพื้นฐานสำคัญด้วย

เพราะนี่ไม่ใช่การออกแบบชุดแฟชั่นโชว์ แต่เป็นชุดที่ต่างชาติที่ดูการประกวด จะได้ยินคำว่า “ชุดประจำชาติไทย” จึงไม่ควรทำให้ชาวต่างชาติ เข้าใจผิดๆว่า ผู้หญิงไทยแต่งแบบนี้หรือ?

อย่างไรก็ตามมีคนเสนอด้วยว่า กรณีชุดประจำชาติเวทีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ไหน ๆก็ใช้วิธีให้คนนอกออกแบบแล้ว ก็ควรเสริมด้วยการ ให้คัดเลือก 3 ชุด หรือ 5 ชุดสุดท้าย มาให้คนไทยมีส่วนร่วม ได้โหวตอย่างที่นิยมกัน หากชุดใครได้รับโหวตเยอะ ชุดนั้นก็กลายเป็นชุดประจำชาติ แล้วให้นางงามสวมใส่เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สไป

คราวนี้ดูสิว่าใครจะด่าอีก

เครดิตภาพ จาก FB bank bkk universe

วิจารณ์กระหน่ำชุดประจำชาติ นาฏยมาลี  Miss Universe Thailand


ชุด นาฏยมาลี โดย  ริดา-ชาลิตา แย้มวัณณังค์ ชุด นาฏยมาลี โดย ริดา-ชาลิตา แย้มวัณณังค์


ชุด นาฏยมาลี โดย  ริดา-ชาลิตา แย้มวัณณังค์ ชุด นาฏยมาลี โดย ริดา-ชาลิตา แย้มวัณณังค์


ชุด นาฏยมาลี โดย  ริดา-ชาลิตา แย้มวัณณังค์ ชุด นาฏยมาลี โดย ริดา-ชาลิตา แย้มวัณณังค์


ชุด นาฏยมาลี โดย  ริดา-ชาลิตา แย้มวัณณังค์ ชุด นาฏยมาลี โดย ริดา-ชาลิตา แย้มวัณณังค์


ชุด นาฏยมาลี โดย  ริดา-ชาลิตา แย้มวัณณังค์ ชุด นาฏยมาลี โดย ริดา-ชาลิตา แย้มวัณณังค์


วิจารณ์กระหน่ำชุดประจำชาติ นาฏยมาลี  Miss Universe Thailand

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์