ล่องแม่น้ำ ไหว้พระ 9 วัด เอาฤกษ์รับขวัญปีใหม่

เทศกาลปีใหม่ก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่กลิ่นอายแห่งความสุขก็ยังคงอบอวลอยู่ในหลายๆ ที่


แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ระเบิดกรุงเทพฯ มาทำให้หลายๆ คนอกสั่นขวัญแขวนไปบ้างก็ตามที ไม่รู้ว่าปีใหม่นี้หลายๆ คนได้เริ่มต้นทำสิ่งดีๆ เพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยกันบ้างหรือยัง

หากใครยังไม่ได้เริ่ม จะลองไปไหว้พระ 9 วัด

เป็นสิริมงคลแบบฉันก็ได้ แต่คราวนี้ไม่ใช่ 9 วัดธรรมดา แต่เป็นการไหว้พระ 9 วัดทางน้ำ ไปนั่งเรือรับลมในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองบางกอกน้อยให้จิตใจเย็นสบายและสงบกันดีกว่า


เริ่มต้นการไหว้พระทางน้ำกันที่


วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร

วัดเก่าแก่ที่สันนิษฐานกันว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยละโว้โน่น
เดิมชื่อว่า "วัดสมอราย"
ต่อมารัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดราชาธิวาสวิหาร"
แปลว่า วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา
อีกทั้งรัชกาลที่ 4 สมัยที่ยังเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎก็ได้ผนวช
และจำพรรษา ณ วัดนี้ และได้ก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้นที่นี่ด้วย


สิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นก็คือพระอุโบสถซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้า


ให้ "นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม" หรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เป็นผู้ทรงออกแบบ โดยมีลวดลายเลียนแบบสถาปัตยกรรมขอม มีเสาพาไลรอบ

แต่ก็ยังคงรักษาโครงสร้างของพระอุโบสถเดิมที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 ไว้อย่างสวยงาม


ลงเรือลอยลำลอดใต้สะพานพระรามแปดและสะพานปิ่นเกล้า


มาที่ วัดอัมรินทรารามราชวรวิหาร หรือชื่อเดิมว่า "วัดบางหว้าน้อย" ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟบางกอกน้อย และการวางรางรถไฟในตอนนั้นก็ทำให้พระอุโบสถที่มีมาก่อนต้องถูกตัดไปหนึ่งห้องเพื่อทำทางรถไฟ

เมื่อพระอุโบสถเล็กลงชาวบ้านก็เลยเรียกว่าโบสถ์น้อย และเรียกพระประธานว่าหลวงพ่อโบสถ์น้อยไปด้วย


หากใครมาที่วัดนี้ก็ต้องมาไหว้พระพุทธฉายจำลอง


และพระพุทธบาทจำลอง โดยมณฑปของพระพุทธบาทจำลองนี้จัดว่าเป็นมณฑปที่สวยงามแห่งหนึ่งในเมืองไทยเลยทีเดียวละ ไปวัดบางหว้าน้อยแล้ว

ก็ต้องไปต่อวัดบางหว้าใหญ่ หรือ วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร ที่อยู่ไม่ไกลกัน ถ้ามาวัดนี้แล้วก็จะต้องไปกราบพระประธานในพระอุโบสถ

ซึ่งเป็นพระประธานที่รัชกาลที่ 5 เคยตรัสว่า

"ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที..."


ที่พลาดไม่ได้ก็คือจะต้องมาที่กราบพระที่วิหารสมเด็จพระสังฆราช (สี)


ซึ่งเป็นพระสังฆราชองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ และมาที่วิหารหลังตรงข้ามที่ประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระราชาคณะของวัด นี้ไว้ 3 องค์ คือ ซึ่งก็คือ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัด เสนีวงศ์)
และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร)


แถมที่วัดนี้ยังมีหอพระไตรปิฎกที่เป็นตำหนักไม้แฝด 3 หลัง


ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นตำหนักและหอประทับนั่งของรัชกาลที่ 1 เมื่อตอนที่ยังเป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกฝ่ายขวา ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสิน

แต่เมื่อต้องเสด็จไปตีเมืองโคราชจึงได้รื้อตำหนักนั้นมาถวายวัดระฆัง หรือวัดบางหว้าใหญ่ในขณะนั้น

หอพระไตรปิฎกนี้ได้มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่

เมื่อคราวฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี และยังเคยได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี 2530 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย


แล้วก็อย่าลืมเดินชมจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ที่พระระเบียงรอบพระอุโบสถ


ซึ่งเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่ยาวที่สุดในโลก ก่อนจะไปไหว้พระศรีรัตนเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่รัชกาลที่ 4 ทรงได้มาจากลังกา

และใกล้ๆ กันนั้นก็เป็นพระมณฑป และพระพุทธปรางค์ปราสาทซึ่งมีการก่อสร้างแบบไทยงดงามยิ่งนัก


วัดพระแก้วยังมีอะไรให้ชมอีกมากมาย แต่ตอนนี้ฉันต้องเดินทางต่อไปยัง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร


หรือวัดโพธิ์กันต่อ ที่วัดโพธิ์นี้ก็กว้างใหญ่และเต็มไปด้วยสิ่งที่น่าสนใจเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพระประธานในพระอุโบสถที่มีชื่อว่า พระพุทธเทวปฏิมากร ที่งดงามราวกับเทวดามาสร้างไว้ หรือพระพุทธไสยาสน์

ในวิหารพระพุทธไสยาสน์ ก็เป็นพระนอนขนาดใหญ่ที่งดงาม

ความยาวถึง 46 เมตร ที่ฝ่าพระบาททั้งสองข้างเป็นลาย
ประดับมุกภาพมงคล 108 ประการ

หาชมไม่ได้ง่ายๆ และนอกจากนั้นก็ยังมีพระพุทธรูปล้ำค่าอีกหลายองค์ภายในวัด


อย่าลืมไปสักการะเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1-4


และเจดีย์รายมากมายในบริเวณวัด ถ้ามีเวลาก็ลองเดินชมฤๅษีดัดตน รวมทั้งแผ่นศิลาที่จารึกตำรายาและโคลงกลอนต่างๆ พร้อมกับถ่ายรูปกับตุ๊กตาหินจีนขนาดเล็กขนาดใหญ่ที่มีอยู่มากมายภายในวัดโพธิ์


ข้ามฝั่งกลับไปอีกหนึ่งรอบ


เพื่อไปยัง วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เพื่อมาชมพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่มีความสูงเกือบ 70 เมตร และเข้าไปกราบ "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" พระประธานในพระอุโบสถที่รัชกาลที่ 2 เป็นผู้ปั้นพระพักตร์ของพระประธานด้วยพระองค์เอง


มาถึงวัดแจ้งแล้วก็ต้องมาดูยักษ์วัดแจ้งสองตนที่ยืนเฝ้าซุ้มประตูพระอุโบสถอย่างแข็งขัน


โดยยักษ์สองตนนั้นก็คือทศกัณฑ์ เป็นยักษ์กายสีเขียว ส่วนอีกตนหนึ่งชื่อว่าสหัสเดชะ เป็นยักษ์กายสีขาว นอกจากนั้น ที่นี่ก็ยังมีตุ๊กตาหินแบบจีนอยู่มากมายเช่นเดียวกัน

โดยมีอยู่ทั้งรอบๆ พระอุโบสถ ระหว่างใบเสมาทั้ง 8 ซุ้ม

และอยู่ด้านหน้าพระระเบียงที่ล้อมรอบอุโบสถ แถมยังมีพระเจดีย์หินแบบจีน และมีผู้วิเศษจีนแปดคน หรือที่เรียกว่าโป๊ยเซียน ตั้งอยู่ในซุ้มของเจดีย์นั้นทั้ง 8 ทิศด้วยกัน


มาต่อกันที่ วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร หรือที่เรียกสั้นๆ


ว่าวัดกัลยาฯ วัดแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศบ้านและซื้อที่ดินข้างเคียงเพิ่มเติมสร้างเป็นวัดขึ้น แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 3

วัดแห่งนี้โดดเด่นด้วยพระประธานในพระวิหารหลวง

คือหลวงพ่อโต หรือพระพุทธไตรรัตนนายก หรือเรียกชื่อแบบจีนว่า ซำปอฮุดกง หรือซำปอกง เป็นที่เคารพสักการะทั้งชาวไทยและชาวจีน

ซึ่งรัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชประสงค์

ที่จะสร้างให้เป็นพระพุทธรูปใหญ่อยู่ริมแม่น้ำแบบเดียวกันกับวัดพนัญเชิงที่กรุงเก่า ส่วนด้านหน้าพระวิหารก็มีซุ้มประตูแบบจีนงดงามมากอีกด้วย


คราวนี้มาเปลี่ยนบรรยากาศจากแม่น้ำเจ้าพระยามาเป็นล่องคลองบางกอกน้อย


เพื่อไปไหว้พระอีกสองวัดกันบ้าง เริ่มจาก วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร หรือชื่อเดิมว่า "วัดทอง" วัดแห่งนี้เคยเป็นแดนประหารชีวิตเฉลยศึกพม่านับพันคนในสมัยพระเจ้าตากสินด้วย

ที่พลาดไม่ได้เมื่อมาวัดนี้ก็คือ

พระอุโบสถศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่มีพระศาสดา พระพุทธรูปหล่อสำริดปางมารวิชัย
ฝีมือช่างสมัยสุโขทัยอันงดงามเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
และนอกจากนั้นแล้ว ภายในพระอุโบสถวัดสุวรรณารามยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังชั้นครู
ที่เป็นการประชันฝีมือการวาดภาพกันระหว่าง อาจารย์ทองอยู่กับอาจารย์คงแป๊ะ ยอดจิตรกรยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้จิตรกรมาวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังเมื่อคราวที่บูรณะวัดแห่งนี้
ซึ่งแม้จนถึงวันนี้จิตรกรรมฝาผนังจะลบเลือนไปบ้าง แต่ก็ยังคงมองเค้าของความสวยงามได้อยู่


และมาปิดท้ายกันที่


วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร หรือเดิมเรียกว่า วัดหมู เพราะเดิมนั้นบริเวณวัดแห่งนี้มีคนเลี้ยงหมูกันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีหมูที่คนเอามาปล่อยที่วัดอีกต่างหาก ทำให้วัดนี้มีหมูเดินเพ่นพ่านอยู่เต็มวัด

วัดแห่งนี้ถือเป็น อันซีนบางกอก

เพราะแปลกตรงที่มีพระประธานในพระอุโบสถมากถึง 28 องค์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยตั้งอยู่บนฐานชุกชีเดียวกันลดหลั่นกันลงมา

โดยเหตุที่ต้องมีพระประธานหลายองค์ก็หมายถึงพระพุทธเจ้าที่เกิดขึ้นในชาติภพต่างๆแล้ว 27 พระองค์


ส่วนองค์ที่ประดิษฐานอยู่หน้าสุดคือพระพุทธโคดม


ที่เป็นพระศาสดาองค์ปัจจุบัน รวมทั้งหมด 28 พระองค์ และที่ฐานพระพุทธรูปมีพระนามจารึกด้วยงาช้างทุกองค์อีกด้วย

ก็เป็นอันจบเส้นทางไหว้พระ 9 วัด ทางน้ำเพียงเท่านี้ เริ่มต้นปีใหม่กันด้วยบุญกุศลเช่นนี้ ก็หวังว่าปีนี้คงเป็นปีที่ดีสำหรับฉัน และสำหรับทุกๆ คนด้วยนะ

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์