มนัสพ่อแอ๊ด คาราบาวถึงแก่กรรม


"มนัส โอภากุล" พ่อ "แอ๊ด คาราบาว" ถึงแก่กรรมแล้วด้วยวัย 97 ปี ก่อนจากฝากลูกชายรักษาสุขภาพ

เผยเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขามนุษยศาสตร์ (อนุรักษ์และเผยแพร่) ปี 2530



เมื่อเวลา 04.30 น. วันที่ 4 มกราคม นายมนัส โอภากุล อายุ 97 ปี บิดานายยืนยง โอภากุล หรือแอ๊ด คาราบาว เสียชีวิตลงด้วยโรคชรา หลังจากเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลศูนย์เจ้าพระยายมราช เขตเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี เป็นเวลาถึง 128 วัน ญาติรับศพไปตั้งบำเพ็ญกุศล ที่วัดพระรูป ถนนขุนช้าง ต.ท่าพี่เลี้ยง เขตเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี


 นางสุนี สีตลกาญจน์ ลูกสาวคนโต เปิดเผยว่า ได้จัดให้มีพิธีรดน้ำศพตั้งแต่เวลา 16.00 น. วันที่ 4 มกราคม โดยนายดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการสำนักพระราชวัง เป็นประธาน พร้อมด้วยญาติและแขกผู้มีเกียรติ นักร้อง เพื่อนนักดนตรี ร่วมรดน้ำศพ และสวดอภิธรรมทุกคืนจนถึงวันที่ 8 มกราคม ส่วนพิธีพระราชทานเพลิงศพ จะมีขึ้นเวลา 16.00 น.วันที่ 9 มกราคมนี้


 "ก่อนที่คุณพ่อจะเสียชีวิต เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา แอ๊ด คาราบาว ได้แวะมาเยี่ยมอาการป่วยของพ่อที่ รพ.ศูนย์เจ้าพระยายมราช คุณพ่อมนัสได้สอบถามว่าไปแสดงที่ไหนมา ซึ่งแอ๊ดบอกว่า ที่ จ.กาญจนบุรี  คุณพ่อยังบอกให้แอ๊ดรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้มากๆ และถามเรื่องการเมืองว่าเป็นอย่างไรบ้าง พร้อมกับบอกห้ามไปยุ่งเกี่ยว" นางสุนี กล่าว


 ทั้งนี้ นายมนัส เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขามนุษยศาสตร์ (อนุรักษ์และเผยแพร่) พุทธศักราช 2530  


 ศ.อภินันท์ โปษยานนท์ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า รู้สึกเสียใจที่ได้สูญเสียบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิที่อุทิศตนทำงานเพื่อสังคม ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี สื่อมวลชน และดนตรี อีกทั้งยังมีความคิดริเริ่ม มีคุณธรรม เสียสละเพื่อส่วนรวม ในการนี้ สวช.ได้จัดสวัสดิการช่วยเหลือผู้มีผลงานดีเด่น เพื่อร่วมบำเพ็ญกุศล 1 หมื่นบาท และจัดพิมพ์หนังสือเผยแพร่คุณูปการ 8 หมื่นบาท


 นายมนัส โอภากุล เกิดเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2457 มีความสนใจและรักในการศึกษาค้นคว้าทางด้านโบราณคดี โดยได้ศึกษาเกี่ยวกับโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ ใน จ.สุพรรณบุรี จนมีความรู้อย่างละเอียดและแตกฉาน ได้รวบรวมหลักฐานต่างๆ ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของ จ.สุพรรณบุรี พร้อมทั้งนำไปเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษาจนเป็นที่ยอมรับไปทั่ว และได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัตถุโบราณใน จ.สุพรรณบุรี  โดยเฉพาะความรู้ ความสามารถทางด้านพระพุทธรูปที่มีใน จ.สุพรรณบุรี ได้ใช้ประสบการณ์ตรงเขียนหนังสือชื่อ “พระผงสุพรรณ” และ “ประวัติพระเมืองสุพรรณ” นับเป็นหนังสือที่มีคุณค่ายิ่ง นอกจากนี้ยังได้เขียนเรื่องราวทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์เผยแพร่ในวารสารและเอกสารต่างๆ  


 ในด้านสื่อมวลชน เป็นผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรี ชื่อ "หนังสือพิมพ์คนสุพรรณ” นอกจากนั้น ยังมีความสามารถทางด้านดนตรี เป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์วงดนตรีสากลวงแรกของ จ.สุพรรณบุรี ในนามของวงดนตรีโรงเรียนเทศบาลวัดปราสาททอง แล้วเปลี่ยนเป็นชื่อวง “มนัสและสหาย” ต่อมาได้เข้าสังกัดสมาคมชาวสุพรรณ จึงได้ชื่อวง “ช.พ.ส.” และได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่ให้แสดงหน้าที่นั่งในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ยัง จ.สุพรรณบุรี 



เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์