ดารา นักแสดง หงอยแน่ ! เรืองไกรมาแล้ว ร้องสรรพากร ตรวจสอบการเสียภาษีกราวรูด


นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ   มือตรวจสอบระดับแนวหน้าของเมืองไทย 

ได้ทำหนังสือถึง อธิบดีกรมสรรพากร  เพื่อขอให้ตรวจสอบการเสียภาษีของนักแสดงสาธารณะ  นายเรืองไกร อ้างว่า เป็นการขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 71 ที่บัญญัติให้บุคคลมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของชาติ  ร้องขอให้มีการตรวจสอบการเสียภาษีของนักแสดงสาธารณะ ประเด็นสำคัญของนายเรืองไกร มีดังนี้         
         ข้อ 1 ผู้ถูกร้อง คือ นักแสดงสาธารณะ ตามความหมายในคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.102/2544 ที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือคณะบุคคล โดยควรมีขอบเขตการตรวจสอบเกี่ยวกับการเสียภาษีของนักแสดงสาธารณะย้อนหลังไปเป็นเวลา 5 ปี 
         ข้อ 2 ข้อเท็จจริงที่เป็นมูลเหตให้ทำคำเสนอนี้  เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงตามสื่อสาธารณะว่า มีดารานักแสดงบางคน อาจมีพฤติการณ์หลบหนีภาษี จากเงินได้ที่รับมาเนื่องการการเป็นนักแสดงสาธารณะ โดยการใช้สำเนาบัตรประชาชนของคนอื่นมาเป็นเอกสารหลักฐานประกอบการรับเงิน ทั้งที่ผู้มีเงินได้ที่แท้จริงคือตัวดารานักแสดง และมีการจ่ายเช็คในนามของดารานักแสดง กรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นจึงเป็นมูลเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่า นักแสดงสาธารณะอาจจะมีการหลบหนีภาษีในลักษณะอย่างนี้อีกมาก ซึ่งจะทำให้รัฐได้รับภาษีในส่วนนี้ ต่ำกว่าความเป็นจริง ผลประโยชน์ของชาติในรูปภาษีย่อมขาดไป             
         ข้อ 3 เนื่องจากรายได้ของนักแสดงสาธารณะที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือคณะบุคคลที่ผู้จ่ายเงินได้ซึ่งเป็นนิติบุคคลมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 5 โดยเมื่อผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว ก็จะต้องนำภาษีที่หักไว้นำส่งกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ตามแบบ ภ.ง.ด. 3  ดังนั้น แบบ ภ.ง.ด. 3 จึงมีอยู่ที่กรมสรรพากร และเป็นหลักฐานเบื้องต้นที่กรมสรรพากรจะนำไปตรวจสอบว่า การนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ร้อยละ 5 จากนักแสดงสาธารณะนั้น ที่ผ่านมามีการใช้ชื่อบุคคลอื่นรับเงินแทนหรือไม่  ดังนั้น การให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรตรวจสอบแบบ ภ.ง.ด. 3 ที่ผ่านมาในรอบ 5 ปี ก็ควรจะพบว่า มีการหักภาษีบุคคลอื่นแทนนักแสดงสาธารณะรายใดหรือไม่ โดยให้บริษัทที่เป็นผู้จ่ายเงินได้นำหลักฐานการจ่ายเงินหรือใบสำคัญจ่ายเงินมาตรวจสอบว่า รายการดังกล่าวผู้รับเงินกับผู้ถูกหักภาษีไว้เป็นคนเดียวกันหรือไม่ พร้อมทั้งตรวจสอบลงไปถึงลักษณะของงานจ้างว่า เป็นการจ้างนักแสดงสาธารณะรายใด รายนั้นก็ต้องเป็นผู้มีเงินได้  อีกทั้งควรตรวจสอบไปถึงสำนักงานทนายความหรือสำนักงานบัญชีที่เป็นผู้รับทำบัญชีให้นักแสดงสาธารณะว่า มีส่วนร่วมในการวางแผนเพื่อหลบหนีภาษีด้วยหรือไม่  และมีเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรรายใดเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือให้รัฐเก็บภาษีได้น้อยลงหรือไม่           
         ข้อ 4 จากกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้น แม้จะมีการออกมาปฏิเสธว่าเป็นการส่งหลักฐานผู้รับเงินผิดพลาด  ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะงดเว้นการตรวจสอบตามกรณีตัวอย่างดังกล่าวได้  กรมสรรพากรควรตรวจสอบว่า บุคคลที่ถูกนำบัตรประชาชนมาแสดงเป็นหลักฐานทางบัญชีนั้น เคยมีปรากฏเป็นผู้หักภาษีตามแบบ ภ.ง.ด. 3 มาก่อนหรือไม่ และเคยมีประวัติการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามแบบ ภ.ง.ด. 94 และ ภ.ง.ด. 90 มาก่อนหรือไม่  หากตรวจพบว่ามี ก็แสดงว่า เคยมีการกระทำในลักษณะดังกล่าวมาแล้วอย่างเป็นกระบวนการ (หมายถึงผู้จ่ายเงินก็ร่วมดำเนินการด้วย)  ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าข่ายผิดกฎหมายและทำให้รัฐเก็บภาษีได้น้อยกว่าความเป็นจริง  และควรมีการขยายผลการตรวจสอบไปยังบุตรชายของบุคคลดังกล่าวด้วย โดยเริ่มตรวจสอบจากสำเนาการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 3 ของบริษัทผู้จ่ายเงินได้ในกรณีนี้ ทุกเดือนย้อนหลังไปในรอบ 5 ปีว่ามีการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในลักษณะนี้มาแล้วกี่ครั้งกี่ราย รวมทั้งตรวจสอบการเสียภาษีของนักแสดงสาธารณะและบริษัทออร์การไนเซอร์รายอื่น ๆ ด้วย     
         ข้อ 5 รัฐธรรมนูญ มาตรา 73 บัญญัติให้บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีอากร ดังนั้น กรณีที่ปรากฏตามข่าว จึงเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า อาจมีบุคคลบางกลุ่มไม่ทำหน้าที่เสียภาษีอากร  เช่น กลุ่มนักแสดงสาธารณะ ที่มีกรณีขึ้นมาว่า อาจมีการหลบหนีภาษีโดยการนำสำเนาบัตรประชาชนของบุคคลอื่นมาเป็นหลักฐานรับเงินทางบัญชีของผู้จ่ายเงินได้  ภายใต้การวางแผนหรือช่วยเหลือจากทนายความหรือนักบัญชีหรือเจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่ช่วยเหลือให้มีการหลบหรือหนีภาษี ซึ่งควรเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายด้วย           
         ข้อ 6 กรณีปรากฏตามข่าวว่า ราคาค่าตัวนักแสดงสาธารณะเป็นราคาที่ต้องจ่ายสุทธิโดยไม่มีการหักภาษีนั้น ย่อมแปลว่า เป็นการตกลงงานจ้างที่ผู้ว่าจ้างต้องออกภาษีให้ ราคาค่าจ้างจริงที่จะต้องนำไปรวมเสียภาษีปลายปีต้องสูงกว่า เช่น ค่าจ้างนักแสดงสาธารณะ-สุทธิ 150,000 บาท จะเท่ากับราคาจ้างก่อนหักภาษี คือ 154,639.20 บาท โดยประมาณ (150,000 หารด้วย 0.97) ดังนั้น หากตรวจพบว่า มีนักแสดงสาธารณะรายใดรับค่าจ้างด้วยราคาสุทธิโดยไม่ให้หักภาษี หรือมีการตกลงให้ผู้จ่ายเงินออกภาษีหรือรับผิดชอบภาษีให้ กรมสรรพากรควรตรวจสอบไปถึงราคาว่าจ้างก่อนหักภาษีด้วย 
         ข้อ 7 กรณีที่เป็นข่าว อาจเป็นการแตกหน่วยภาษีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะผู้รับเงินไม่ใช่ผู้ให้บริการในฐานะนักแสดงสาธารณะแต่อย่างใด  เป็นเพียงการทำหลักฐานทางบัญชีของผู้จ่ายเงินได้เพื่อหักเป็นค่าใช้จ่ายเท่านั้น  กรณีอย่างนี้ย่อมเป็นรายจ่ายที่ไม่สามารถนำไปหักเพื่อคำนวณกำไรสุทธิ เป็นรายจ่ายที่ควรบวกกลับตามประมวลรัษฎากร  สำหรับฝ่ายผู้รับเงินคือนักแสดงสาธารณะ อาจเป็นการเข้าข่ายหนีภาษีอย่างผิดกฎหมาย  ดังตัวอย่างการแตกหน่วยภาษีที่ได้แนบมา ซึ่งสามารถอธิบายความได้ดังต่อไปนี้           
         ตัวอย่าง ถ้านักแสดงสาธารณะที่เป็นคนโสด ได้ค่าตัวครั้งละ 150,000 บาท ปีหนึ่งรับงาน 40 ครั้ง จะมีรายได้ปีละ 6,000,000 บาท ถ้ามีการไปเสียภาษีอย่างถูกต้องตามที่กฎหมาย ซึ่งจะต้องถูกหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 และเมื่อครบกำหนดยื่นภาษีประจำปี ในประเภทเงินได้มาตรา 40 (8) ตามประมวลรัษฎากร ก็จะสามารถหักรายจ่ายรวมแล้วไม่เกิน 600,000 บาท ทำให้ต้องเสียภาษีให้รัฐรวมทั้งปีที่ 1,541,900  บาท โดยเมื่อนำภาษีหัก ณ ที่จ่ายมาเครดิตออกด้วยจำนวนร้อยละ 5 คือ 300,000 บาท จะต้องทำให้เสียภาษีเพิ่ม 1,241,900 บาท แต่ถ้ามีการใช้ชื่อบุคคลอื่นโดยนำสำเนาบัตรประชาชนมาใช้เป็นหลักฐานทางบัญชีแทนจำนวน 5 คนในอัตราคนละ 1,200,000 บาท จะทำให้เสียภาษีเพียงเท่ากับร้อยละ 5 หรือจ่ายเพิ่มเพียงคนละ 1,000 บาทเท่านั้น  ซึ่งจะทำให้หลบหรือหนีภาษีได้ประมาณ 1,241,900 บาท

 โดยอาจมีการจ่ายเพิ่มในการยื่นแบบภาษีในนามของคนที่ถูกเอาบัตรประชาชนมาใช้เพียงคนละ 1,000 บาทเท่านั้น ผลต่างของภาษีที่หลบหรือหนี ก็อาจจะถูกนำไปเสียเป็นค่าทนายที่ปรึกษาหรือสำนักงานรับทำบัญชีและเคลียร์เจ้าหน้าที่ที่รับดูแลให้ ส่วนที่เหลือนักแสดงสาธารณะก็จะรับไปทั้งหมด  แต่ผู้ที่เสียหายคือ รัฐที่จัดเก็บภาษีได้น้อยกว่าความเป็นจริง และประชาชนที่เสียภาษีอย่างตรงไปตรงมา  หรือในกรณีที่หาบัตรคนอื่นมารับแทนในอัตราไม่เกินคนละ 600,000 บาท ซึ่งกรณีเช่นนี้อาจพบได้มากในรูปการนำบัตรประมาชนของบุคคลอื่นตั้งแต่สองคนขึ้นไปมาเป็นหลักฐานรับเงินในนามคณะบุคคล จะทำให้รัฐต้องเงินในรูปการคืนภาษีประมาณคนละ 18,000 บาท หรือถ้าเป็นคณะบุคคลจะได้คืนภาษีเป็น 21,000 บาท 

กรณีเช่นนี้ บัตรประชาชน 3 ใบ เช่น นาย ก. นาย ข. นาย ค. จะแตกหน่วยภาษีได้ถึง 6 หน่วยภาษี คือ ในนามนาย ก. ในนามนาย ข. ในนามนาย ค. ในนามคณะบุคคล ก. กับ ข. ในนามคณะบุคคล ก. กับ ค. และในนามคณะบุคคล ข. กับ ค.  หรือที่เคยปรากฏว่ามีการทำคระบุคคลซ้อนกันเป็นหลายคณะโดยใช้คนเพียง 2 คน แต่แตกออกโดยมีเลขกำกับ เช่น คณะบุคคล ก.ข. 1 , คณะบุคคล ก.ข. 2 , คณะบุคคล ก.ข. 3 , คณะบุคคล ก.ข. 4 เรียงลำดับไปเรื่อย ๆ โดยกรณีเช่นนี้จะทำได้ถ้าหากมีเจ้าหน้าที่ให้ความร่วมมือ  การเสียภาษีของนักแสดงสาธารณะ ถ้าเทียบกับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้จากการทำงานทั้งปี ๆ ละ 6,000,000 บาท ซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (1) จะเห็นได้ว่า นักแสดงสาธารณะสามารถหักค่าใช้จ่ายเหมาได้มากกว่า คือ 600,000 บาทต่อปี ต่างจากมนุษย์เงินเดือนที่หักเหมาได้ร้อยละ 40 แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ต่างกันถึงสิบเท่า ทำให้มนุษย์เงินเดือนจะต้องเสียภาษีเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,741,700 บาท  และการเสียภาษีของมนุษย์เงินเดือนยังถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราก้าวหน้าด้วย  
         ดังนั้น ถ้านักแสดงสาธารณะสามารถแตกหน่วยภาษีดังกรณีตัวอย่างได้ มนุษย์เงินเดือนก็อาจจะอ้างได้เช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เสียหายต่อระบบการจัดเก็บภาษีตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  และจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีและไม่เป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีประเภทอื่น ดังนั้น การเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติในฐานะคนไทยที่มีหน้าที่เสียภาษีอากร และเป็นการทดแทนคุณของแผ่นดินได้อีกทางหนึ่ง           
         ข้อ 8 การตรวจสอบการเสียภาษีนักแสดงสาธารณะตามคำร้องนี้ อาจจะมีส่วนช่วยเหลือราชการได้บ้าง ไม่มากก็น้อย  และหากตรวจแล้วพบว่า มีนักแสดงสาธารณะรายใดมีการหลบหนีภาษี ก็ขอให้ดำเนินการประเมินเรียกเก็บภาษีพร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับให้ครบถ้วนต่อไป  แต่หากตรวจพบว่า นักแสดงสาธารณะรายใด ได้ปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 102/2544 อย่างถูกต้องแล้ว ก็ควรมีการยกย่อง และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่า นักแสดงสาธารณะรายนั้น ได้ทำหน้าที่ในการเสียภาษีอากรอย่างถูกต้องเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในสังคมต่อไป


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์