ชำแหละไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์เรื่องน่าเค้นของคนทะเล้น-ทะลึ่ง


ชำแหละไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์เรื่องน่าเค้นของคนทะเล้น-ทะลึ่ง

ชำแหละ'ไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์'เรื่องน่าเค้นของคน'ทะเล้น-ทะลึ่ง'

          หากพูดถึงรายการประเภท "เรียลิตี้โชว์" ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว รายการ "ไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์" โดยบริษัท ยูนิลีเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซื้อลิขสิทธิ์การประกวด "บริเทนส์ก็อตแทเลนต์" จากประเทศอังกฤษมาออกอากาศในประเทศไทย และให้บริษัท "เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์" เป็นผู้ผลิตรายการ นับเป็นประเทศที่ 43 ของโลก และประเทศที่ 5 ของเอเชียที่มีรายการนี้

          กระแสตอบรับของเรียลิตี้โชว์ ที่เปิดโอกาสให้คนมาแสดงความสามารถ โดยไม่จำกัดอายุ เพศ และจำนวน เป็นไปอย่างดีเยี่ยม หลายโชว์ได้รับการยอมรับ และเป็นที่พูดถึงในระยะเวลาอันรวดเร็วทั้ง "ไมร่า-มณีภัสสร มอลลอย" แชมป์ซีซั่น 1 และ "เล้ง-ราชนิกร แก้วดี" แชมป์ซีซั่นที่ 2 หากแต่ระหว่างทางของความสำเร็จ ยังมีจุด "ด่าง" หรือ "ดราม่า" มากมายเกิดขึ้นในรายการ กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง จนเกิดเป็นกระแสทั้งในเชิงบวกและลบ
 
          ดังเช่นกรณีของ "ปอนด์-ดวงใจ จันทร์เสือน้อย" หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันในซีซั่นที่สอง กับการถอดเสื้อ เทสีราดตัวแล้วใช้หน้าอกวาดรูปบนผืนผ้าใบ สร้างคำถามในช่วงระหว่างนั้นว่า สิ่งที่เธอทำคือ "ศิลปะ" หรือ "อนาจาร" หลังจากนั้นปอนด์ ยอมรับว่า เธอมีอาชีพเป็นนักเต้นโคโยตี้ ส่วนการเข้ามาประกวดรายการนี้ เพราะมีคนมาติดต่อมา โดยให้ค่าจ้างเป็นจำนวนเงิน 1 หมื่นบาท จากบทเรียนในครั้งนั้นทางทีมงานของเวิร์คพอยท์ รวมถึงผู้บริหารอย่าง "เสี่ยตา-ปัญญา นิรันดร์กุล" ได้ออกมากล่าวขอโทษประชาชน น้อมรับคำติชม และพร้อมจะพัฒนาปรับปรุงรูปแบบรายการต่อไป
 
          หลังจากนั้นประชาชนคงมีความคาดหวังว่า จะได้เห็นการระมัดระวังในการคัดเลือกผู้เข้าประกวด ซึ่งทางทีมงานของรายการจะเป็นคนคัดเลือกในเบื้องต้น ก่อนจะมาถึงการตัดสินชี้ขาดของคณะกรรมการทั้ง 3 คน อย่าง "เบนซ์-พรชิตา ณ สงขลา"  "ภิญโญ รู้ธรรม"  "โจ-จิรายุส วรรธนะสิน" แสดงให้เห็นว่า ทุกขั้นตอนของการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขัน ต้องผ่านการคัดกรอง และเห็นชอบจาก ทีมงาน หรือ โปรดิวเซอร์ รายการมาก่อน ส่วนคณะกรรมการตัดสินทั้ง 3 ท่าน เปรียบเสมือนผู้ชี้ขาดในเกมการแข่งขัน เข้ามาเป็นสีสันให้รายการมีอรรถรสเข้มข้นมากยิ่งขึ้น แต่อาจจะเป็นผู้คุมเกมอย่างแท้จริง ฉะนั้นโชว์ที่ "ดี" หรือ "ไม่ดี" อาจถูกกำหนดไว้แล้วว่า ต้องเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และกรรมการควรตัดสินให้ "ผ่าน" หรือ "ไม่ผ่าน"
 
          ไม่มีใครคาดคิดว่า "ไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์" ซีซั่นที่ 3 จะก้าว "พลาด" ซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง เมื่อผู้เขาแข่งขันที่ใช้ชื่อว่า สิทธัตถะ เอมเมอรัล ขึ้นมาแสดงความสามารถในการร้องเพลง "เปาบุ้นจิ้น" แต่จากลักษณะการพูดจาตอบโต้กับคณะกรรมการ โดยไม่มีหางเสียง และมีพฤติกรรมบางอย่างที่อาจจะไม่ปกติ แต่กลับสร้างความไม่พอใจให้แก่คณะกรรมการ จนถูกท้วงติงในเรื่อง "มารยาท" ของผู้เข้าแข่งขันรายนี้ สุดท้ายเขาดูเหมือน "ตัวตลก" ที่ฝืดและไม่สร้างสรรค์อย่างยิ่ง จนคณะกรรมการ รวมถึงผู้ผลิตรายการ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่า มีการนำ "บุคคลพิเศษ" มาออกรายการ เพื่อเรียกเรตติ้งและสร้างกระแส โดยไร้คุณธรรมและจริยธรรม
 
          กระทั่ง "แม่" ของผู้เข้าแข่งขันรายนี้ออกมายอมรับว่า ลูกของตัวเองอาจมีพฤติกรรมไม่ปกติจริง แต่ไม่เคยพาไปพบแพทย์ เนื่องจากยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ทว่าลูกอยากไปออกรายการเพื่อแสดงความสามารถ ในฐานะของคนเป็นแม่ คาดว่าลูกไม่น่าจะผ่านรอบคัดเลือก แต่สุดท้ายกลับผ่านเข้าไปได้ถึงรอบออดิชั่น ณ โรงละคร อักษรา โดยไม่ทราบเหตุผลของทีมงาน และหากทีมงานเห็นว่า ไม่เหมาะสมจริง เหตุใดจึงไม่ตัดเทปนี้ทิ้ง เพราะมีการบันทึกไปตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2556
 
          ทั้งนี้คำตอบของ "แม่" ผู้เข้าแข่งขันรายนี้ ย่อมค้านกับคำตอบของทีมงานบริษัทเวิร์คพ็อยท์ที่ว่า ผู้เข้าแข่งขันดู "ปกติ" ทุกอย่างตอนมาคัดเลือก รวมถึงผู้บริหารอย่าง "เสี่ยตา-ปัญญา นิรันดร์กุล" ยอมเปิดปาก หลังจากคณะอนุกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง กสทช. นัดประชุมพิจารณาเรื่องร้องเรียนรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ ซีซั่น 3 เพื่อต้องการหาทางออกในด้านจริยธรรม จรรยาบรรณสื่อ และความรับผิดชอบต่อสังคม
 
          โดยผู้บริหารเวิร์คพอยท์ เผยว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเพราะทางบริษัทรู้ไม่เท่าทัน และไม่มีเจตนาจะดูหมิ่นศักดิ์ศรีใดๆ ทั้งสิ้น "ผมรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราต้องขอโทษ  จะระมัดระวัง และจะทำให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป เราดูและชื่นชมในตัวเขาด้วย แต่รายการไม่ทราบ ทำไมแม่ไม่บอกก่อน เพราะถ้าเป็นเคสปกติก็สามารถนำมาออกอากาศได้เลย  แต่ไม่อยากให้โยงว่ารายการต้องการสร้างกระแสเพื่อเรียกเรตติ้ง เพราะคิดว่ารายการมีรูปแบบในการนำเสนอที่ดีอยู่แล้ว" ปัญญากล่าว
 
          แม้แต่หนึ่งในคณะกรรมการอย่าง ภิญโญ ยังเคยให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องยกขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติ และตัวสิทธัตธะ ไม่ได้ผิดตรงไหน อยากให้ย้อนกลับไปดูตั้งแต่ซีซั่นที่ 1 "ต้องถามไปว่าจะสืบสวนกันเรื่องอะไร ความไม่เหมาะสมตรงไหน ผิดกฎหมายข้อที่เท่าไหร่ก็ว่ามา หรืออันนี้ จะยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ ทำประชามติ และจะเป็นกรณีศึกษาให้แก่นักศึกษากฎหมายต่อไปก็ได้ เพราะตอนแรกมันไม่ได้มีเรื่องอะไร จนมีการสร้างกระแสต่างๆ กันออกมา ผมขอพูดว่า เรากำลังผิดกลิ่นน้องเขา คือการไปหาว่าเขาป่วยทั้งที่ไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยัน แล้วก็มาว่าคนที่หยิบน้องเขาออกมาโชว์ ซึ่งจริงๆ น้องเขาไม่ได้ถูกบังคับ เขาตั้งใจจะมาด้วยตัวเขาเอง ซึ่งเราก็เปิดกว้าง"  ภิญโญกล่าว ซึ่งอาจจะจริงในบางส่วน ทว่าหากมีวิจารณญาณที่ดีในการพิจารณาแล้ว เชื่อขนมกินได้ว่าผู้ผลิตน่าจะทราบดีว่า เทปดังกล่าวควรที่จะนำออกอากาศหรือไม่ และทั้งนี้เสียงก่นด่า หรือวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ส่วนใหญ่เทน้ำหนักไปที่ทีมผู้ผลิต ไม่ใช่ตัวของสิทธัตธะที่ดูคล้ายว่าจะเป็นเหยื่อจากเหตุการณ์นี้ ภิญโญอาจจะเข้าใจอะไรผิดไปบางประการ
 
          สถานการณ์ของ "ไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์" ในครั้งนี้ทำให้รู้ว่า ผู้ผลิตคิดอย่าง ผู้เข้าประกวดได้รับผลกระทบอีกอย่าง ส่วนประชาชนคนเสพสื่อ คงต้องจับตาดูต่อไปว่า "ไทยแลนด์" จะมี "ทาเลนต์" หรือ "ทะเล้น" ทะลึ่งอย่างไม่รอบครอบ และไร้ความรับผิดชอบต่อไปกันแน่!!


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์