จริงหรือ เมื่อหมดยุค สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ช่อง 7 สีจะไม่เหมือนเดิม?

ผู้จัด ดารา ผู้กำกับ คนเขียนบท เจ้าหน้าที่ประจำกองถ่ายละครฯลฯ ถึงกับหลั่งน้ำตาเมื่อทราบข่าวช็อควงการ


 จริงหรือ เมื่อหมดยุค “สุรางค์ เปรมปรีดิ์” ช่อง 7 สีจะไม่เหมือนเดิม?

หลายคนตั้งคำถามประมาณนี้ในทันทีที่ทราบข่าว “คุณแดง” - เจ้าแม่ 7 สี ผู้บริหารคนสำคัญถูกปลดจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ด้วยคำสั่งของ “กฤตย์ รัตนรักษ์” ประธานกรรมการบริษัทกรุงเทพวิทยุและโทรทัศน์



จำกัด ด้วยการไม่ต่อสัญญาจ้างให้อีกต่อไป โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555

ก่อนหน้านี้ก็มีกระแสข่าวสะพัดอย่างต่อเนื่องมาตลอดถึงความพยายามจะปลดระวางฝ่ายบริหารจากกลุ่มตระกูล “กรรณสูต” ภายหลังการเสียชีวิตของชาติเชื้อ กรรณสูตพี่ชายของคุณแดง เมื่อปี 2541หลังจากทั้งคู่ร่วมกันปลุกปั้นช่อง 7 สีให้เติบโตยิ่งใหญ่เป็นขวัญใจมหาชนมาอย่างยาวนานมาร่วม 3 ทศวรรษ

 โดยเฉพาะเธอเป็น ‘ตัวจริง เสียงจริง’ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอย่างเหนียวแน่นของละครช่อง 7

ที่หลายคนตกใจคือในการสั่งให้สุรางค์ เปรมปรีดิ์พ้นจากตำแหน่งนี้ กฤตย์ รัตนรักษ์ ในฐานะผู้ถือหุ้น  ‘ใหญ่กว่า’ ‘มิได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้าแต่อย่างใด สะท้อนภาพความอึมครึมที่ไม่มีผู้ใดทราบข้อเท็จจริงแน่ชัดที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้งไม่ลงรอยภายในระหว่างผู้ถือหุ้นใหญ่สองตระกูลนี้ที่ฝังลึกซ่อนอยู่ในเนื้องานมาตั้งแต่ความพยายามของกฤตย์ในการดึงเอา “ชาลอต โทณวณิก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ จำกัด (มหาชน)เข้ามาช่วยงานช่อง 7 สีอยู่ระยะหนึ่ง ในฐานะตัวแทนฝ่ายรัตนรักษ์แต่ในที่สุดชาลอตก็เหมือนจะแพ้ภัยตัวเอง ต้องยกธงขาวถอยร่นจากไป


จริงหรือ เมื่อหมดยุค สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ช่อง 7 สีจะไม่เหมือนเดิม?

ต้องยอมรับว่าเส้นทางความยิ่งใหญ่ของเรตติ้งกุมหัวใจชาวบ้านแบบช่อง 7 สีนั้นเกิดขึ้นได้ด้วย บทบาทและวิธีการทำงานในสไตล์ "คุณแดง" ที่หนักแน่น เฉียบขาด มั่นคงในความมีระเบียบวินัยสูงเป็นที่เลื่องลือ มีวิธีทำงานที่ใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ ทั้งความเข้มแข็งและอ่อนโยนในเวลาเดียวกัน ทำให้เธอเป็นที่เคารพยำเกรงของคนในวงการและพนักงานช่อง 7


สุรางค์ เปรมปรีดิ์จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารระดับสูงผู้มากบารมีของช่อง 7 อย่างแท้จริง ถึงขนาดทุกคนที่เคยเกี่ยวข้องใกล้ชิด ยกให้เป็น “เจ้าแม่” แห่งวงการโทรทัศน์โดยไม่มีผู้ใดกังขาจนถึงนาทีสุดท้ายที่ต้องอำลาวิก 7 สีไป

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครหลายคนจะรักเธอสุดหัวใจและบางคนก็พร้อมที่จะชังเธอตลอดไป

แรงกระเพื่อมในช่อง 7 มีขึ้นชัดเจนภายหลังการจากไปของชาติเชื้อ กรรณสูต และดูเหมือนกฤตย์จะสนุกกับธุรกิจสื่อโทรทัศน์และบันเทิงมากกว่าธุรกิจการเงินของธนาคารกรุงศรีอยุธยาเสียอีก แต่มันเริ่มต้นแบบคลื่นใต้น้ำเงียบๆ และใช้เวลาหลายปีสั่งสมพลังในการลดทอนบทบาทของสุรางค์ลงไปเรื่อยๆ

วิธีการสลายอำนาจทำแบบค่อยเป็นค่อยไปด้วยการตัดแข้งตัดขา ปลดผู้ช่วยคนสำคัญของหัวเรือใหญ่ไปทีละคนสองคน เพื่อผ่องถ่ายอำนาจในแต่ละจุดไปสู่บุคคลที่กำหนดตัวไว้แล้ว


จริงหรือ เมื่อหมดยุค สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ช่อง 7 สีจะไม่เหมือนเดิม?

เดือนพฤศจิกายน 2550 กฤตย์ แต่งตั้งให้ “สมพงษ์ อัชฌานุเคราะห์” ผู้จัดการฝ่ายการตลาดขึ้น เป็นผู้จัดการฝ่ายรายการช่วงเวลานอกไพร์มไทม์ แทน “พลากร สมสุวรรณ” คนสนิทของคุณแดง ที่ถูกเด้ง ไปนั่งเก้าอี้ใหม่เอี่ยมตำแหน่งผู้จัดการฝ่าย สังกัดสำนักประธานกรรมการดูแลงานด้านกลยุทธ์ แผนงาน โครงการพิเศษ งานด้านประชาสัมพันธ์และงานสื่อสารองค์กร

พูดง่ายๆก็คือมีแต่ตำแหน่งที่เหมือนใหญ่โต แต่ไม่มี ‘งาน’

ถัดมาอีกปี มกราคม 2551 สมพงษ์ อัชฌานุเคราะห์ผู้จัดการฝ่ายรายการถูกโปรโมทมานั่งคุมผังรายการของช่อง 7 ซึ่งเป็นหัวใจของสถานีโดยตรง แม้คุณแดงจะนั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการอยู่ก็เท่ากับว่าถูกลดบทบาทสำคัญที่สุดลงเหลือเพียงการดูแลเรื่องละครโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว

ดังนั้น การที่รายการ “ชิงร้อยชิงล้าน” และ “คนอวดผี” ของเสี่ยตา-ปัญญา นิรันดร์กุลแห่งบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด หลุดจากผังรายการของช่อง 7 สีนั้นจึงมิได้เกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับอำนาจและบทบาทของคุณแดง

อันที่จริงมองอย่างเป็นอนิจจัง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการถึงวาระต้องไป เพราะปีนี้คุณแดงอายุ 69 แล้ว ความคล่องแคล่วกระฉับกระเฉงว่องไวอาจจะไม่เหมือนเมื่อยี่สิบปีก่อน จังหวะเวลาของชีวิตและวิธีทำงานแบบที่เคยยึดมั่นถือมั่นมาอาจใช้ไม่ได้แล้วกับกระแสธารการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันอันเชี่ยวกรากในธุรกิจสื่อทุกประเภท โดยเฉพาะในวงการโทรทัศน์ด้วยกันเอง ทั้งกับช่อง 3 คู่แข่งตัวเอ้ กับช่องเคเบิล ทีวีดาวเทียว รวมทั้งสื่ออออนไลน์มัลติมีเดียที่เข้ามาช่วงชิงตลาดอย่างเมามัน


จริงหรือ เมื่อหมดยุค สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ช่อง 7 สีจะไม่เหมือนเดิม?

กระนั้นนักวิเคราะห์ทั้งหลายก็ชี้เป้าความผิดพลาดไปที่ ‘เรตติ้ง’ ขาลงยามตะวันบ่าย ซึ่งแม้ในข้อเท็จจริงผลการสำรวจเรตติ้งของนีลเส็นมีเดีย รีเสิร์ช ยังให้ช่อง 7 สีได้ชัยชนะต่อช่อง 3 ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ ‘กระแสสังคม’ และบทบาทการชี้นำวิพากษ์วิจารณ์ที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนเมืองหลวงและคนที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เครือข่ายอินเตอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์กในฐานะสื่อพลเมืองล้วนเป็นคนในเมืองใหญ่ที่เทคะแนนให้กับความตื่นเต้นเร้าใจทางการตลาดแบบช่อง 3 ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามองให้กับทั้งรายการข่าวและละครโทรทัศน์

กลยุทธ์การตลาดของช่อง 3 ครบเครื่องครบรสแบบไม่ธรรมดา สามารถจับกระแสทิศทาง อารมณ์ของสังคมได้อยู่หมัด ดูเฉพาะการทำข่าวน้ำท่วมอย่างเดียว ทีมครอบครัวข่าวก็สามารถสร้างดราม่าเรียกน้ำตาและเสียงหัวเราะได้ทุกวัน กระชากเรตติ้งหนีห่างข่าวช่อง 7 ได้กระจุยกระจาย แม้จะโดนวิพากษ์ในเรื่องเนื้อหาสาระน้อยน้ำเยอะอยู่บ้าง แต่ก็ถูกใจคนดู

คงไม่มียุคสมัยใดอีกแล้วที่รายการข่าวจะสร้างรายได้ให้กับช่อง 3 ได้มากมายปานนี้ ถึงขนาดที่ต้องลดเวลาละครหลังข่าวภาคค่ำลงเพื่อให้ช่วง “ข่าว 3 มิติ” มีเวลานำเสนอข่าวได้อย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น ขณะที่ละครโทรทัศน์ที่เป็นรายได้หลักของช่อง 7 นั้น เห็นได้ชัดว่าแผ่วลง แม้เรตติ้งจากการสำรวจของนีลเส็นจะยังนำหน้าช่อง 3 อยู่เกือบจะทุกเรื่องตลอดปี แต่มันก็  ‘แย้ง’ กับความรู้สึกของคนดู โดยมีรูปธรรมการเคลื่อนย้ายทรัพยากรบุคคลที่เป็นกำลังหลักทั้งในทีมข่าวและดารานำคนสำคัญจากช่อง 7 หันมาซบอกช่อง 3 อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความชาญฉลาดทางการตลาดของช่อง 3 ที่ทำให้สาระด้านข่าวกับความบันเทิงทับซ้อนอยู่ด้วยกันจนแยกไม่ออก กลายเป็นกระแสใหม่ที่มีพลังสูงชี้นำรสนิยมของคนเมือง

ในรอบสองสามปีมานี้ ต้องยอมรับว่าละครวิก 3 ประสบความสำเร็จอย่างมากในด้านการปั้นดาราหน้าใหม่ๆเข้าสู่วงการ ทำให้เกิดตัวเลือกมากมาย และด้วยวิธีการโปรโมทอย่างต่อเนื่องแยบยลทำให้การแจ้งเกิดใหม่ของดาราเป้าหมายแต่ละคนทำได้ในระยะเวลาอันสั้นและรวดเร็ว พระเอกและนางเอกหน้าใหม่สามารถเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจคนดูได้ตั้งแต่เรื่องแรกๆ แม้ผลงานการแสดงจะยังไม่ลื่นไหลนัก


จริงหรือ เมื่อหมดยุค สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ช่อง 7 สีจะไม่เหมือนเดิม?

ตัวอย่างที่น่าสนใจมากคือละครชุด “4 หัวใจ แห่งขุนเขา” ตามมาด้วยโครงการ 4+1 อย่างหนุนเนื่อง ทำให้ 4 พระเอกใหม่ ณเดชน์ บอย หมาก เคน-ภูภูมิ แทรกเข้ามาเป็นขวัญใจผู้ชมได้ในทันทีโดยแทบไม่ต้องออกแรง

  

ด้วยเหตุนี้ผู้บริหารช่อง 3 จึงไม่เคยยอมรับผลการจัดเรตติ้งของนีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ชว่าเป็นเรตติ้งที่เชื่อถือได้ และยังเดินหน้าต่อในการเล่นกับกระแสมวลชนในสไตล์ช่อง 3 ที่ทำวิจัยเรตติ้งเองเป็นการภายในเน้นการเคลื่อนไหวแบบฉับไวตอบรับเสียงสะท้อนรอบทิศทางมากกว่าจะลดตัวมาอ้างอิงการจัดเรตติ้งตามกระแสหลัก

นาทีนี้เรตติ้งของนีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช ที่บริษัทฝรั่งต้องใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจด้านการขายและการตลาดนั้นแทบจะใช้ไม่ได้กับวิธีทำงานแบบช่อง 3 ที่สามารถสร้าง “เทรนด์” ของตัวเองขึ้นมาได้แล้ว ขณะที่ช่อง 7 ยังยึดมั่นอยู่กับความเชื่อแบบเดิมๆว่าเมื่อสามารถครองใจผู้ชมทั่วประเทศในระดับรากหญ้าได้อยู่ธุรกิจก็ยังยืนหยัดมั่นคงได้ต่อไป

บางทีการปลดสุรางค์ เปรมปีรดิ์อาจมีคำตอบสำคัญให้กับกฤตย์ รัตนรักษ์ได้แล้วจริงๆ อาจทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสถานีในไม่ช้านี้ แต่อย่าลืมว่าคนดูต่างหากที่จะเป็นผู้วัดผลว่าอะไรคือสิ่งที่พวกเขาเลือก

ตอนนี้ แม้แต่ในเรื่องละครโทรทัศน์ที่เคยเป็นจุดแข็งของช่อง 7 สีมาหลายสิบปีก็เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์แบบสาดเสียเทเสียทั้งในด้านคุณภาพการผลิต เทคนิคการถ่ายทำ ดารา และความไม่น่าสนใจโดยรวม บางเสียงถึงกับพูดตรงๆว่า “กากมาก”

สังคมกำลังจับตาว่า เมื่อช่อง 7 สีไม่มี “สุรางค์ เปรมปรีดิ์” แล้ว อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป?


จริงหรือ เมื่อหมดยุค สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ช่อง 7 สีจะไม่เหมือนเดิม?

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์