หนังไทยแนว จีทีเอช-ผู้ชายลัลล้า-สิ่งเล็กเล็กฯ สุดฮิตในอินโดฯ


ทั้งนี้ เป็นที่เข้าใจได้ว่ากระแสความนิยมหนังไทยในอินโดนีเซีย เริ่มก่อตัวขึ้นหลังภาพยนตร์เรื่อง "รถไฟฟ้า...มาหานะเธอ" (Bangkok Traffic (Love) Story)

ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมในทางบวกและสามารถยืนโรงฉายได้เป็นเวลานาน

กระแสตอบรับในทางบวกของผู้ชม ได้เป็นแรงกระตุ้นให้บริษัทเจ้าของเครือข่ายโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศอย่าง "บลิตซ์เมกะเพล็กซ์" ตัดสินใจที่จะนำเข้าภาพยนตร์แนวโรแมนติคคอเมดี้จากประเทศไทยต่อไป

หลังจาก"รถไฟฟ้า...มาหานะเธอ" ผู้ชมก็ได้สัมผัสกับภาพยนตร์ไทยสไตล์เกาหลีอย่าง "กวน มึน โฮ" และตามด้วยภาพยนตร์แนววัยรุ่นกุ๊กกิ๊กอีกจำนวนหนึ่ง ก่อนที่ผู้ชมจะตกหลุมรักกับภาพยนตร์วัยรุ่นแนวรุ่นน้องตกหลุมรักรุ่นพี่เรื่อง "สิ่งเล็กเล็ก ที่เรียกว่ารัก" ขณะที่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพยนตร์วัยรุ่นเรื่อง "Suck Seed ห่วยขั้นเทพ" ก็สามารถครองแชมป์ในตารางหนังทำเงินติดต่อกันได้ไม่ยาก สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ไม่มีภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ดเข้าฉายเลยในขณะนั้น



จะเห็นได้ว่า ภาพยนตร์โรแมนติคคอเมดี้ของไทยส่วนใหญ่ถูกกำหนดเส้นเรื่องให้เป็นไปในทางเดียวกัน ทั้งประเด็นความเข้าใจผิดหรือเหตุบังเอิญในบางช่วง ตัวละครหลักมักจะถูกจับแยกออกจากกันในช่วงหนึ่งของหนัง ก่อนที่จะกลับมาเจอกันอีกครั้งภายใต้สถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างไม่ได้คาดคิด

และถึงแม้ว่านี่อาจเป็นสูตรสำเร็จก็ตาม แต่กระนั้น ด้วยเทคนิคการสร้างที่มีความโดดเด่น ทำให้ Suck Seed ไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเลี่ยนหรือว่าหลุดจากประเด็นหลักที่หนังกำหนดไว้ นอกจากนั้น เทคนิคการสร้างก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเพลงร็อค ซึ่งถูกใส่เข้ามาในภาพยนตร์เป็นระยะๆ ซึ่งถือเป็นชิ้นส่วนที่ปะติดปะต่อให้ภาพยนตร์มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

นั่นเท่ากับเป็นการแสดงให้เห็นว่า ภาพยนตร์โรแมนติคคอเมดี้ของไทย ทำให้แนวหนังที่มีความซ้ำซากอยู่ในตัวแตกต่างจากภาพยนตร์แนวเดียวกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งการแสดงที่ดีของนักแสดง การตีความภาพยนตร์อย่างทะลุปรุโปร่ง และเทคนิคด้านฉากที่น่าสนใจ ก็มีเหตุผลเพียงพอที่ทำให้ผู้ชมกลับมาชมภาพยนตร์แนวนี้อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า



ขณะที่ภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมอีกเรื่องคือ "ผู้ชายลัลล้า" ซึ่งนำเสนอพล็อตเรื่องที่ไม่มีความซับซ้อน โดยเล่าเรื่องของชายหนุ่มจอมเจ้าชู้สามคนที่คบกับผู้หญิงไม่เลือกหน้า ทั้งๆที่ตนมีภรรยารออยู่ที่บ้านแล้ว  จนกระทั่งวันหนึ่ง หนึ่งในสามคนตกหลุมรักภรรยาสาวของเจ้าพ่อมาเฟีย จากพล็อตเรื่องที่ดูเหมือนไม่มีอะไร กลับมีจุดหักเหในตอนท้าย

แน่นอนว่าหนังในแนวนี้ จะต้องมีภาพของหญิงสาวสวมบิกีนี่เดินไปเดินมาให้ตื่นตาตื่นใจเล่น แต่ก็ไม่ต่างจากแนวทางของภาพยนตร์ของอินโดนีเซียในช่วงยุคปี 1980 นัก ซึ่งเป็นยุคที่กลุ่มนักแสดงตลก Warkop DKI กำลังครองตลาดภาพยนตร์ในอินโดนีเซียในยุคนั้น และยังคงได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลายแม้ว่าจะมีการนำภาพยนตร์กลับมาฉายทางโทรทัศน์ในปัจจุบันก็ตาม



สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์ไทยสามารถเข้าไปตีตลาดอินโดนีเซียได้ก็คือ สตูดิโอจากฮอลลีวู้ด ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมภาพยนตร์แห่งอเมริกา (เอ็มพีเอเอ) ซึ่งประกอบด้วยสตูดิโอขนาดใหญ่ 6 แห่ง ประกอบด้วย วอลต์ ดิสนีย์, พาราเมาท์, โซนี่ พิคเจอร์ส, ทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ฟ็อกซ์, ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ และวอร์เนอร์ บราเธอร์ส ระงับการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ของตนในอินโดนีเซีย ด้วยสาเหตุที่ว่า การเก็บภาษีจากรายได้ร้อยละ 20 ของรัฐบาล ไม่ก่อให้เกิดผลกำไรต่อสตูดิโอมากนัก

ขณะที่สาเหตุหลักคือ การที่กลุ่ม Cineplex 21 ซึ่งเป็นเจ้าของเครือข่ายโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าหนังฮอลลีวู้ดรายใหญ่ ไม่จ่ายภาษีการนำเข้านับตั้งแต่ปี 1995 ทั้งนี้อาจเกิดจากการที่บริษัทมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อรัฐบาลสมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ ขณะที่รัฐบาลในชุดปัจจุบันต้องการนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาล โดยกล่าวอ้างว่า Cineplex 21 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงภาษี ดังนั้นในทางปฏิบัติ ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเอ็มพีเอเอ จึงไม่ได้รับการฉายตามโรงภาพยนตร์ในอินโดนีเซีย



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์