ส่องประวัติศาสตร์ผ่าน ข้าบดินทร์

"ข้าบดินทร์" ละครฟอร์มยักษ์ของ ทีวีซีนลาจอไปแล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา (28-06-2015) แต่ ก็ยังคงกระแสดีต่อเนื่อง นอกจากถูกใจคอละครไทยและโด่งดังไกลไปถึงเมืองจีน ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังเขียนชื่นชมในเฟซบุ๊กในแง่ของความเป็นละครและการบอกเล่าประวัติศาสตร์

เช่นเดียวกับ รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-เขมร เจ้าของหนังสือ ยุทธมรรคา เส้นทางเดินทัพ ไทย-เขมร ที่ให้ความเห็น "ถ้ามองว่าเป็นตัวกระตุ้นให้คนสนใจประวัติศาสตร์ยุคสมัยรัชกาลที่ 3 ขึ้นมาใหม่ก็ถือว่าเป็นข้อดี เพราะช่วงนั้นพูดง่ายๆ ว่าไม่ใช่กระแสหลักของการเรียนประวัติศาสตร์"

โดยนั่นเป็นช่วงสงคราม "อานามสยามยุทธ" ที่ "ไทย" รบกับ "ญวน (อันนัม)" ซึ่งพยายามเข้ามาแทรกแซงประเทศราชอย่างลาวและกัมพูชา

ซึ่งเขาว่า "ปกติเรื่องราวช่วงนี้เราไม่ค่อยได้รู้กันเท่าไหร่ ถ้าเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ก็จะไม่เป็นเรื่องหลักเพราะเน้นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อื่นๆ อย่างเสียกรุง หรือสมัยธนบุรี แต่อันนี้หยิบยกเรื่องสมัยรัชกาลที่ 3 มาทำให้พล็อตของเรื่องน่าสนใจ

"แล้วคนเขียนก็พยายามที่จะให้ใกล้เคียงกับหลักฐานที่มี"

ดังนั้น นอกจากตัวละครสมมุติ เช่น "เหม", "ลำดวน", "หลวงสรอรรถ" ฯลฯ จึงมีบุคคลในประวัติศาสตร์ปรากฏให้เห็นมากมาย

อาทิ "เจ้าพระยาบดินทรเดชา" ขุนพลแก้วของรัชกาลที่ 3 ผู้มีบทบาทในการสร้างความแข็งแกร่งของสยามยุคนั้น

อย่าง "อานามสยามยุทธ" ท่านก็เป็นผู้นำทัพ ซึ่งครั้งนั้นทำให้เกิดเส้นทางใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขุด "คลองแสนแสบ" ใช้ลัดเส้นทางเดินทัพเพื่อส่งเสบียง ส่งผู้คนไปยังประจันตคาม กบินทร์บุรี ปราจีนบุรี ชุมชนเหล่านี้จึงถูกยกฐานะขึ้นมาเป็นเมืองไปโดยปริยาย


ขณะเดียวกันชื่อของท่านก็อาจเป็นที่มาหนึ่งของชื่อ "ข้าบดินทร์"

"ชื่อนี้ถ้ามองมีนัยยะเยอะ หมายถึงเป็นข้าของรัชกาลที่ 3 ก็ได้เพราะชื่อพระนามก่อนขึ้นครองราชย์ คือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ หรือจะมาจากเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ได้ ซึ่งชื่อท่านก็บอกว่าเป็นเดชะหรือเดช คืออำนาจของบดินทร์ รัชกาลที่ 3"

ส่วน "เสด็จในกรมฯ" ที่แม่บัวไปถวายตัว ซึ่งตอนหลังถูกสำเร็จโทษจนคนในวังแตกกระสานซ่านเซ็นนั้นคาดว่าน่าจะเป็น "หม่อมไกรสร" หรือ "พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ"

"ท่านเป็นพระโอรสของรัชกาลที่ 1 มีศักดิ์เป็นพระปิตุลา (อา) ของรัชกาลที่ 3 ดูแลเกี่ยวกับกรมสังฆการี กรมวัง ดูแลเรื่องการตัดสินคดีความต่างๆ ก็มีอิทธิพลในราชสำนักพอสมควร แต่ตอนหลังมีความขัดแย้งในยุคนั้นหลายอย่าง เนื่องจากท่านดูแลกรมวัง มีเรื่องการตัดสินคดีความ ปรากฏว่ามีคนสนิทใกล้ชิดท่านรับสินบนทำให้ตอนตัดสินคดีความต่างๆ ก็ไปเข้ากับคนผิดบ้างอะไรบ้าง ทำให้เจ้าทุกข์ร้องเรียน อีกอย่างหนึ่งคือท่านมีคณะละคร ซึ่งยุคนั้นละครต้องเป็นผู้ชาย ท่านก็สนิทกับตัวละครที่เป็นผู้ชาย พอตอนหลังมีการตัดสินคดีกันก็มีปรากฏอยู่ในพงศาวดารสมัยรัชกาลที่ 3 บอกว่าหม่อมไกรสรมีความสัมพันธ์กับคนในคณะละคร แต่จริงๆ ก็ด้วยหลายเหตุ ท้ายที่สุดเลยให้สำเร็จโทษ" รศ.ดร.ศานติบอก

นอกจากนี้ ยังว่า "ละครเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงสังคมไทยเราอย่างหนึ่งว่าสามารถเลื่อนฐานะได้

"สังคมเราไม่มีระบบตายตัวเหมือนชาติอื่นๆ ที่เป็นทาสก็เป็นทาสตลอดไป ของไทยเรามูลนายสามารถลงไปเป็นทาสได้ถ้าคุณทำผิดแล้วโดนริบเรือนต่างๆ หรือไปเป็นไพร่ได้ ขณะเดียวกันถ้าทาสมีเงินมาไถ่ตัวก็พ้นจากทาสไปเป็นไพร่ได้ แล้วถ้าคุณรับราชการเวลามีสงครามได้รับความดีความชอบก็เลื่อนขั้นเป็นขุนนางได้"

เช่น "เหม" จากเดิมเป็นลูกขุนนางชั้นสูง เมื่อพ่อถูกคดีก็โดนลดชั้นให้มาเป็น "ตะพุ่น" คนเกี่ยวหญ้าให้ช้างกิน กลายเป็นคนเลี้ยงช้างแล้วค่อยๆ ก้าวขึ้นไปเป็นควาญ ก่อนจะใช้ความสามารถได้กลับเข้ารับราชการจนขึ้นเป็นขุนนางอีกครั้ง

ขณะเดียวกันก็ทำให้เห็นว่า "ช้าง" สำคัญเพราะเป็น 1 ใน 4 เหล่าทัพ "จตุรงคเสนา"

โดยเฉพาะ "ช้างเผือก" ที่ควาญใดคล้องมาถวายพระเจ้าแผ่นดินได้จะได้ปูนบำเหน็จรางวัล เช่น ได้รับส่วยอากรที่เคยเก็บได้ในบริเวณนั้น หรือที่พาให้ทั้งเหมและแม่พ้นจากตำแหน่งตะพุ่น

ส่วน "คณะละคร" ฝั่งบ้านนางเอก ก็ถือเป็นการแสดงบารมีของขุนนางสมัยนั้นทางหนึ่ง

ดั่งผู้เชี่ยวชาญว่า "ละครในที่มีผู้หญิงล้วนรุ่งเรืองสุดสมัยรัชกาลที่ 2 พอยุครัชกาลที่ 3 ท่านไม่โปรดก็ไม่ได้ตั้งคณะละครของท่าน เพราะฉะนั้นครูละครช่วงเวลานั้นก็เลยลำบาก ละครพวกนี้เลยออกมาอยู่ตามบ้านขุนนาง แล้วขุนนางเวลานั้นถ้าจะแสดงบารมีต้องมีคณะละครไว้ประชันกัน ไว้รับแขก ไว้ดู"

ตามหลักฐานของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะเจ้าพระยาบดินทรเดชาออกทัพไปรบกับญวนเป็นเวลา 15 ปี ก็มีคณะละครติดตามไปแสดงให้ชมด้วย

เช่นเดียวกับ "ทรงผมจอนยาว" ที่ผู้เชี่ยวชาญบอกชัด "มันเป็นแฟชั่นความงามของผู้หญิงยุคนั้นเลย"

เพียงแต่เรื่องจริงผมข้างหลังจะตัดสั้นเกรียน แล้วเหลือผมตรงกลางหย่อมหนึ่งไว้หวีเสยขึ้น ส่วนจอนก็ปล่อยยาวไว้ทัดหู

สำหรับเรื่อง "หน้าตา" คนไทยสมัยนั้นที่ทำเอาคนตั้งแง่เมื่อเห็นหนุ่มตี๋ เจมส์ มาร์ และสาวลูกครึ่ง แมท-ภีรนีย์ คงไทย นำแสดง

รศ.ดร.ศานติว่า "หน้าตาแล้วแต่ผู้สร้าง บอกไม่ได้หรอก มันก็ปนกันไปหมด"

"พูดง่ายๆ ในยุครัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 ผู้ชายหน้าตาคล้ายกัน"

แถมยังไม่เคยมีใครเห็นภาพถ่ายว่าหน้าตาเป็นอย่างไร มีเพียงเดาจากรูปปั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่ นักองค์ด้วง กษัตริย์กัมพูชายุคนั้นโปรดให้สร้างขึ้นมา ณ เมืองอุดงมีชัย เพราะเป็นผู้ช่วยให้ท่านได้ขึ้นครองราชย์

กระนั้น "นักองค์ด้วงคงบอกช่างปั้นตามที่ท่านจำได้ ไม่ได้เอามาเทียบจากรูปถ่าย"

และนั่นยังเป็นต้นแบบของรูปปั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่วัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) อันสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีลูกสะใภ้ซึ่งเคยเห็นหน้าท่านเป็นคนบอกว่าเหมือนหรือไม่

"ซึ่งก็คือใกล้เคียงที่สุด แต่ก็ไม่รู้หรอกว่าจริงๆ แล้วเป็นยังไง

"ต้องเข้าใจว่าเป็นนิยายพอเอามาสร้างเป็นละครต้องการให้มันสนุกก็ต้องเพิ่มเติมเข้าไป ถ้าเอาตามประวัติศาสตร์ตรงๆ ก็คงจืดไม่สนุกหรอกเพราะฉะนั้นถ้าถามคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์ก็โอเค ก็มีพื้นนะ แต่ถ้าให้ดีกว่านั้นถ้าคุณอยากจะรู้ก็ไปศึกษาเพิ่ม"

เพิ่มจากสิ่งที่ "ข้าบดินทร์" เริ่มต้นให้


ส่องประวัติศาสตร์ผ่าน ข้าบดินทร์


ส่องประวัติศาสตร์ผ่าน ข้าบดินทร์


ส่องประวัติศาสตร์ผ่าน ข้าบดินทร์


ส่องประวัติศาสตร์ผ่าน ข้าบดินทร์


ส่องประวัติศาสตร์ผ่าน ข้าบดินทร์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์