มาแล้วเรื่องย่อฉบับเต็ม แม่เบี้ย ภาพยนตร์เรื่องที่อื้อฉาวที่สุดแห่งปี

กำหนดฉาย 17 ก.ย. 2558
แนวภาพยนตร์ ดราม่า-อีโรติก
บริษัทผู้สร้าง-จัดจำหน่าย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล
อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
ควบคุมการสร้าง ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล
ดำเนินงานสร้าง นัยนา อึ้งสวัสดิ์, โชคอนันต์ สกุลธรรม
กำกับภาพยนตร์ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล
บทภาพยนตร์ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล
กำกับภาพ อุดม วรประคุณ
ออกแบบงานสร้าง นพพร เกิดศิลป์
ลำดับภาพ สิริกัณณ์ ศรีจุฬาภรณ์
เทคนิคภาพพิเศษ เซอร์เรียล สตูดิโอ
ดนตรีประกอบ ปิติ เกยูรพันธ์
ออกแบบเครื่องแต่งกาย อธิษฐ์ ฐิรกิตติวัฒน์
แต่งหน้า-แต่งหน้าเอฟเฟ็คต์ มนตรี วัดละเอียด
ฟิล์มแล็บ Kantana Post Production
บันทึกเสียง Kantana Sound Studio
ทีมนักแสดง ชาคริต แย้มนาม, กานต์พิสชา เกตุมณี, จิรวิชญ์ พงษ์ไพจิตร,
อาภา ภาวิไล, ชัยวัฒน์ ทองแสง, ศักราช ฤกษ์ธำรงค์, เพ็ญเพชร เพ็ญกุล ฯลฯ

 


มาแล้วเรื่องย่อฉบับเต็ม แม่เบี้ย ภาพยนตร์เรื่องที่อื้อฉาวที่สุดแห่งปี

เรื่องย่อ

เบื้องลึกของความรัก ตัณหาราคะ
เหล่าคนบาป และความเร้นลับแห่งอสรพิษ

ทุกเรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อ "ชนะชล สุพรรณภูมิ" (ชาคริต แย้มนาม) ประธานบริษัทอสังหาริมทรัพย์ผู้มั่งคั่งมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นเจ้าของ "เรือนไทยโบราณริมแม่น้ำ" ทำให้ "ภาคภูมิ" (จิรวิชญ์ พงษ์ไพจิตร) เลขาคนสนิทได้พาเขาไปดูเรือนไทยโบราณที่ อ.บางปลาม้า สุพรรณบุรี ของ "เมขลา พลับพลา" (กานต์พิสชา เกตุมณี) เจ้าของบริษัท "เมขลาทัวร์" ซึ่งเป็นเพื่อนหญิงรุ่นพี่ของภาคภูมิ
ที่นั่น ชนะชลเกิดความลุ่มหลงในความเร้นลับของบรรยากาศเรือนไทยโบราณแห่งนั้น รวมทั้งเสน่ห์อันยั่วยวนใจ ของเมขลาเจ้าของบ้าน ทำให้ทั้งสองติดต่อกันเรื่อยมาจนก้าวข้ามไปสู่ความสัมพันธ์ฉันชู้สาวอย่างลึกซึ้ง และที่เรือนไทยแห่งนี้ ชนะชลได้ค้นพบขนบธรรมเนียนประเพณีไทยที่บ้านนั้นรักษาไว้อย่างเคร่งครัดพร้อมกับความลึกลับที่มี "งูเห่ายักษ์"แฝงเร้นความน่าสะพรึงกลัวในบ้านนั้น และคอยจับจ้องทำร้ายเขาในทุกขณะจิต
และที่นี่เขาก็ได้พบกับ "ลุงทิม" (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) คนเก่าแก่แห่งครอบครัวพลับพลาผู้เฝ้าดูแลและกุมความลับเหนือธรรมชาติของเรือนไทยโบราณแห่งนี้ ซึ่งชนะชลรู้สึกคุ้นเคยกับชายชราผู้นี้เป็นพิเศษราวกับเคยรู้จักกันมาแต่เก่าก่อน รวมถึงการล่วงรู้ความลับดำมืดในบ้านเรือนไทยหลังนี้ที่ได้สร้างความปวดร้าวใจแก่ "คุณโกสุม" (อาภา ภาวิไล) มารดาของเมขลาเป็นยิ่งนัก ซึ่งมันอาจจะเกี่ยวพันกับปริศนาชีวิตในอดีตของเขาที่ยังไม่อาจคลี่คลาย
ยิ่งเวลาผ่านไป สัมพันธ์สวาทของชนะชลและเมขลาก็ยิ่งดำดิ่งเป็นปมลึก และนั่นได้นำพาทั้งคู่และคนรอบข้างไปสู่หายนะแห่งชีวิต ไม่ว่าจะเป็น "ไหมแก้ว" (ภัทรนันท์ รวมชัย) ภรรยาของชนะชลที่ไม่อาจยอมรับการนอกใจของสามีได้ และ "พจน์" (ชัยวัฒน์ ทองแสง) เพื่อนสนิทและคู่ขาของเมขลาที่หึงหวงอย่างรุนแรงต่อการปันใจของเธอให้ชายอื่น
รวมถึง "คุณ" (งูเห่ายักษ์) ที่ปรากฏตัวให้ชนะชลและเมขลาเห็นบ่อยขึ้น และแสดงอำนาจเร้นลับมากขึ้นทุกที ราวกับจะดึงสติทั้งคู่ให้กลับมาอยู่ในทำนองคลองธรรม
ก่อนที่เรื่องราวทุกอย่างจะพลิกผันจบลงด้วยการแก้แค้น, ชำระบาป และความตาย เมขลาจึงจำต้องคลี่คลายปัญหาด้วยการตัดใจลา ยุติความสัมพันธ์กับชนะชลอย่างเด็ดขาด เพื่อมิให้งูเห่ายักษ์พรากชีวิตของเขาไป ในขณะที่ชนะชลเองก็ได้ค้นพบรากเหง้าชีวิตอันเป็นต้นกำเนิดของเขาไปพร้อมๆ กับตระหนักถึงบาปที่ตนก่อไว้เช่นกัน

 

 


มาแล้วเรื่องย่อฉบับเต็ม แม่เบี้ย ภาพยนตร์เรื่องที่อื้อฉาวที่สุดแห่งปี

เบื้องหลังงานสร้าง

"ท่ามกลางกระแสความสั่นคลอนทางเศรษฐกิจ การเมืองและศิลปะวัฒนธรรมที่เรากำลังเผชิญหน้ากันในทุกวันนี้ เราไม่อาจหาคำตอบที่ตรงประเด็นได้ว่าอะไรคือสาเหตุทำให้เกิดวิกฤตการณ์ที่สร้างความสับสนวุ่นวายอันต่อเนื่องอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าและแลดูจะเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ ‘แม่เบี้ย' ของ ‘วานิช จรุงกิจอนันต์' นักประพันธ์รางวัลซีไรต์ อาจเป็นอีกคำตอบสำคัญคำตอบหนึ่งที่จะอรรถาธิบายถึงสิ่งที่ขาดหายไปของสังคมไทยในยุคที่โทรศัพท์มือถือกลายเป็นอวัยวะส่วนใหม่ของมนุษย์จนรากเหง้าแห่งความเป็นไทยกำลังสูญหายไปจากความเป็นคนไทย" (ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล)

จากบทประพันธ์อันทรงคุณค่าของนักเขียนรางวัลซีไรต์ "วาณิช จรุงกิจอนันต์" สู่การตีความใหม่และถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ดราม่าอีโรติกอย่างวิจิตรบรรจงและเหมาะกับยุคสมัยในเวอร์ชั่น 2558 โดยผู้กำกับชั้นครู "หม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล" ที่จะพาผู้ชมดิ่งลึกไปกับเรื่องราวของเหล่าคนบาปที่พัวพันกันในความรักเร้นลับและตัณหาราคะดำมืดอันเกินหยั่งถึงของ "เมขลา" สาวสวยล้ำสมัยสุดเซ็กซี่ผู้มีความมั่นใจในตัวเองสูง และใช้ชีวิตอิสระทุกด้านอย่างถึงที่สุด กับ "ชนะชล" ชายหนุ่มผู้เพียบพร้อมทั้งรูปสมบัติ, ชาติตระกูล และครอบครัวสมบูรณ์แบบ แต่กลับมาลุ่มหลงอย่างถอนตัวไม่ขึ้นในเสน่ห์อันยั่วยวนใจของเมขลา-เจ้าของ "เรือนไทยโบราณ" ที่ซึ่งชนะชลมีความหลังฝังใจต่อปริศนาชีวิตในอดีตของเขาที่ยังไม่อาจคลี่คลาย อันเป็นที่มาของความลึกลับน่าสะพรึงกลัวที่ซ่อนเร้นอยู่ในทุกมุมมืดของบ้านหลังนั้น ซึ่งมี "คุณ" (งูเห่ายักษ์) คอยเร้นร่างสอดส่องและปรากฏกายห้ามพฤติกรรมอันผิดศีลธรรมของทั้งคู่ที่นำความหายนะมาสู่ตนและคนรอบข้างอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง 

รวมถึงสะท้อนรากเหง้าความเป็นไทยผ่านภูมิหลังของตัวละครหลักที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งวัตถุกับโลกแห่งจิตใจอันเป็นแก่นแท้ของวรรณกรรมและภาพยนตร์เวอร์ชั่นนี้



"ตอนนึกถึง ‘แม่เบี้ย' แล้วกลับไปอ่านอีกทีหนึ่ง มันก็ชัดเจนเลยว่าจริงๆ แล้วพี่วาณิชซ่อนสิ่งนี้เอาไว้ เหมือนรู้ว่าอีก 30-40 ปีข้างหน้าคนไทยยิ่งจะไม่เห็น ‘คุณค่าของความเป็นไทย' มากขึ้นแล้วก็มากขึ้น เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย เพราะเรื่องจริงๆ แล้วจะเป็นเรื่องที่ดำเนิน 7 วันสุดท้ายในชีวิตของชนะชลที่ค้นพบความเป็นตัวเองที่บ้านไทยโบราณหลังนั้นที่บางปลาม้า ริมแม่น้ำสุพรรณ ที่ตรงนั้นเองที่เค้าค้นพบตัวเองว่าเราคือใคร และเค้าหลงใหลในความเป็นไทยอย่างไร รากเหง้าของเค้าเป็นอย่างไร ซึ่งคนที่เคยทำภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เคยนึกถึงตรงนั้นเลย ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นแก่นแท้ๆ แต่เราไปเน้นเรื่องพิศวาสระหว่างเมขลากับชนะชลเท่านั้น
พอเราอ่านใหม่จริง บรรยากาศเมื่อ 40 ปีที่แล้ว มือถือก็ไม่มีในเรื่อง คอมพิวเตอร์ก็ไม่มี ไฟฟ้าในบ้านเรือนไทยก็ไม่มี ต้องปรับให้เยอะเพื่อที่จะให้เข้ากับยุคปัจจุบัน เราก็เลยต้องปรับอะไรหลายๆ อย่างในบทประพันธ์ แต่ยังรักษารากแก่นแท้เอาไว้ว่าต้องการจะพูดอะไรกับคนอ่าน เพราะฉะนั้นเราต้องมีการสร้างตัวละครใหม่เกิดขึ้นมา มีการเปรียบเทียบระหว่างบ้านเมขลาที่บ้านสุพรรณบุรีกับบรรยากาศในกรุงเทพฯ ที่เป็นไฮเทค เพราะฉะนั้นตัวละครจะมี 2 ฝั่ง คือฝั่งหนึ่งที่จะอยู่กรุงเทพฯ แล้วอีกโลกหนึ่งคือโลกเล็กๆ โลกของบ้านเมขลาที่สุพรรณบุรีที่เค้ารักษาความเป็นไทยไว้ ตัวเมขลาเองเป็นตัวที่เชื่อมระหว่างโลกสมัยใหม่กับโลกสมัยเก่า เรื่องจะพูดถึงตัวละครที่ติดอยู่กับอดีต ทั้งที่ตัวเมขลาเองก็ติดอยู่กับอดีต ชนะชลเองก็ติดอยู่กับอดีต อดีตที่คลุมเครือมากที่ทั้งคู่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร
ประเด็นหลักมันก็คือพี่วาณิชกำลังพูดถึงโลกของวัตถุและโลกของจิตใจ บ้านที่สุพรรณเป็นบ้านที่เชื่อด้วยจิตใจ เป็นเรื่องที่เชื่อเรื่องวิญญาณ ขณะที่เมขลาอยู่ใน 2 โลกคือโลกของกรุงเทพฯ และก็โลกเก่า เธอจึงอยู่ในความก้ำกึ่งของโลกที่ทันสมัยมากและโลกที่เก่ามาก ส่วนชนะชลเองพยายามค้นว่าพ่อแม่จริงๆ ของตัวเองคือใคร เค้าไม่รู้ว่าพ่อแม่เค้าคือใคร เค้ารู้แต่ว่าเป็นเด็กที่ถูกขอมาเลี้ยง จนไม่รู้ว่าอะไรที่ทำให้ภาคภูมิต้องพาเค้าไปที่บ้านหลังนั้น บ้านของเมขลาที่สุพรรณบุรี เค้าเกิดอาการเดฌาวู (Deja-Vu) เหมือนกับว่าเคยมาที่นี่ เค้ารักที่นี่ แล้วหลงใหลในความเป็นไทยที่นี่ ซึ่งจริงๆ อันนี้มันเป็นรายละเอียดที่ทุกเวอร์ชั่นของ ‘แม่เบี้ย' ไม่เคยพูดถึง และไม่พาลึกสู่ภูมิหลังของตัวละคร แต่จะไปเน้นเรื่องพิศวาส ความลึบลับของงู และความตื่นเต้นอย่างเดียว
คือถ้าเราเอาวรรณกรรมไทยที่ดีมากเรื่องนี้มาทำ เราต้องรักษาแก่นของผู้ประพันธ์เอาไว้ ท่านก็เป็นนักประพันธ์รางวัลซีไรต์ ต้องมีอะไรที่มีคุณค่ามากกว่านิยายธรรมดา ‘แม่เบี้ย' ไม่ใช่นิยายธรรมดา ท่านเอาความอีโรติก เอาความลึกลับของงู ความลึบลับของบ้านมาเป็นเปลือกนอก แต่จริงๆ แล้วท่านพูดถึงคนบาป และสอนให้คนอย่าทำบาปกรรม เพราะตอนจบก็จะได้เห็นผลการกระทำของตัวละครทุกตัว ไม่ว่าจะเมขลา, ชนะชล หรือว่าใครก็ตามในเรื่องนี้ล้วนเป็นคนบาปทั้งสิ้น ทุกคนก็จะได้รับผลชะตากรรมของตัวเองเป็นการเตือนว่ามนุษย์ต้องดูตัวเองนะ และดูตัวละครในเรื่องแล้วลดทอนบาปของตัวเองลงไป เพราะว่าเราคิดว่าคนในปัจจุบันทำบาปซะจนชิน เป็นเรื่องธรรมดามาก เราเลยมีการสร้างตัวละครขึ้นมาเพื่อซับพอร์ตในบทสรุปความร้ายทั้งมวลคือมนุษย์นั่นเอง คนดูต้องเปิดใจดูสิ่งใหม่ มองแม่เบี้ยในมุมมองใหม่ เราก็มาทำแม่เบี้ยเวอร์ชั่นใหม่ที่พี่วาณิชพูดกับสังคมไว้ แก่นแท้ไม่ล้าสมัยเลย"

 


มาแล้วเรื่องย่อฉบับเต็ม แม่เบี้ย ภาพยนตร์เรื่องที่อื้อฉาวที่สุดแห่งปี


มาแล้วเรื่องย่อฉบับเต็ม แม่เบี้ย ภาพยนตร์เรื่องที่อื้อฉาวที่สุดแห่งปี

วรรณกรรมสุดคลาสสิกนี้เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี 2532 และ 2544 โดยในเวอร์ชั่น 2558 ของหม่อมน้อยนี้ ได้รับการจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่าใครจะมาเป็นคู่พระนางที่จะมาถ่ายทอดการแสดงทั้งดราม่าชวนซึ้งและอีโรติกแซบซ่านในครั้งนี้
และหม่อมน้อยก็ได้บรรจงเลือกพระเอกหนุ่มมากฝีมือ "ชาคริต แย้มนาม" (เคยร่วมงานกับหม่อมในเรื่อง "อันดากับฟ้าใส" (2540)) ที่จะมาพลิกบทบาทและฟิตหุ่นให้กำยำในการเป็น "ชนะชล" นักธุรกิจหนุ่มไฮโซผู้ประพฤติผิดในศีลธรรม โดยนอกใจภรรยาไปมีสัมพันธ์สวาทกับ "เมขลา" เจ้าของบ้านเรือนไทยโบราณ ทำให้เขาต้องพบกับความลึกลับของงูเห่าในเรือนไทยโบราณที่สุพรรณบุรี
และนักแสดงสาวหน้าใหม่ "อ้อม - กานต์พิสชา เกตุมณี" (ดีกรีรอง Miss Thailand World 2009 และเคยผ่านงานแสดงมาแล้วจาก "จันดารา ปัจฉิมบท") ที่ฝ่าด่านสุดหินพร้อมจะแจ้งเกิดในบท "เมขลา" หญิงสาวปริศนาเจ้าของเรือนไทยลึกลับที่บางปลาม้า สุพรรณบุรี ผู้ผูกพันอย่างเร้นลับกับงูเห่ายักษ์ที่เรือนไทยโบราณแห่งนั้น
"บทของ ‘ชนะชล‘ เหมาะสมกับวัยวุฒิและบุคลิกของ ‘ชาคริต' เป็นอย่างมาก เพราะชนะชลเป็นตัวละครที่มีความซับซ้อนทางอารมณ์ที่ลึกซึ้ง ต้องอาศัยนักแสดงที่มีทักษะและฝีมือในการแสดงขั้นสูง ซึ่งจะเป็นการพลิกบทบาทในการแสดงของชาคริตอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนทั้งในจอภาพยนตร์และโทรทัศน์

มาแล้วเรื่องย่อฉบับเต็ม แม่เบี้ย ภาพยนตร์เรื่องที่อื้อฉาวที่สุดแห่งปี

ขณะที่ ‘อ้อม กานต์พิสชา' ก็มีบุคลิกลักษณะที่ตรงกับ ‘เมขลา' ในบทประพันธ์มาก ทั้งใบหน้าและผิวพรรณที่มีความเป็นหญิงไทยโบราณและมีความทันสมัยแบบอินเตอร์ในคนเดียวกัน แบบหญิงสองบุคลิกภาพที่มีความเป็นไทยแบบเร้นลับ และหญิงสมัยใหม่ ไม่แคร์สังคม และที่สำคัญอ้อมมีดวงตาที่ทรงพลังอันลึกลับน่าค้นหา สมกับบทบาทของ ‘เมขลา' พ.ศ.นี้เป็นอย่างยิ่ง
และทั้งคู่ก็สามารถถ่ายทอดบท ‘คนบาป' ได้อย่างแนบเนียนสมจริงที่ไม่ได้ทำได้ง่ายๆ เลย ซึ่งทั้งในบทของชนะชลและเมขลาเป็นตัวละครที่มีการศึกษาสูง มาจากครอบครัวที่ดี และรู้ดีรู้ชั่ว แต่เพราะเหตุใดตัวละครทั้งสองจึงประพฤติผิดศีลธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ชาคริตสามารถแสดงให้เห็นธาตุแท้ของมนุษย์ได้อย่างเจ็บปวดทรมาน สะเทือนอารมณ์อย่างยอดเยี่ยม และที่น่าจับตามองก็คือ อ้อม กานต์พิสชาที่สามารถถ่ายทอดบท ‘นางบาป' ได้อย่างงดงาม ลึกลับ น่าค้นหา ตรงตามบทประพันธ์ของวานิช จรุงกิจอนันต์ จริงๆ"

มาแล้วเรื่องย่อฉบับเต็ม แม่เบี้ย ภาพยนตร์เรื่องที่อื้อฉาวที่สุดแห่งปี

นอกจากนี้แล้ว หม่อมน้อยยังได้คัดเลือกทีมนักแสดงมากความสามารถรุ่นใหม่เข้ามาเสริมทัพประชันบทบาทเพื่อเพิ่มความเข้มข้นและสร้างสีสันให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น "ฮัท-จิรวิชญ์ พงษ์ไพจิตร" (ฮัท เดอะสตาร์) ในบท "ภาคภูมิ" นักธุรกิจหนุ่มขี้เล่นอารมณ์ดีคนสนิทของชนะชล ผู้นำพาชนะชลไปยังเรือนไทยโบราณลึกลับที่สุพรรณบุรี อันเป็นจุดเริ่มต้นของพิศวาสผิดบาปกับเมขลานั่นเอง

"บทของ ‘ภาคภูมิ' เป็นบทที่สำคัญมาก อาจเรียกได้ว่าเป็นพระเอกอีกคนหนึ่งก็ว่าได้ เป็นบทที่มีความน่ารักขี้เล่นและขำขัน อีกทั้งยังต้องเล่นดราม่าในท้ายเรื่อง ซึ่งผมเห็นว่าคาแร็คเตอร์ของฮัทตรงกับภาคภูมิ ใน ‘แม่เบี้ย' เวอร์ชั่นใหม่นี้ และเชื่อว่าจะสร้างสีสันให้แก่ภาพยนตร์เป็นอย่างมาก"

"แม็กกี้-อาภา ภาวิไล" กับบท "คุณโกสุม" สตรีผู้ยึดมั่นขนบธรรมเนียมประเพณีของความเป็นไทย และหันหลังให้กับความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ จนเธอต้องจบชีวิตลงก่อนวัยอันควร และด้วยดวงจิตแห่งความผูกพันอย่างแรงกล้าในตัวเมขลา-บุตรสาว และเรือนไทยโบราณริมแม่น้ำ ทำให้ดวงวิญญาณของเธอไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดในภพใหม่ และยังวนเวียนอยู่ในเรือนไทยโบราณลึกลับแห่งนั้น
"บท ‘คุณโกสุม' เป็นบทสำคัญที่ไม่ด้อยไปกว่าบทเมขลา เพราะต้องแสดงทั้งภาพเหตุการณ์สำคัญในอดีตที่มีผลต่อลักษณะนิสัยของเมขลาและยังต้องแสดงเป็นดวงวิญญาณที่มีจิตห่วงใยในการกระทำผิดต่อประเพณีและศีลธรรมของทุกชีวิตที่ก้าวเข้ามาในเรือนโบราณนั้น แม็กกี้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามตัวละคร ทั้งความงามแบบหญิงไทยโบราณ และฝีมือทางการแสดงที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง ผมเชื่อว่าผู้ชมต้องทึ่งในความงามราวกับนางในวรรณคดี และการพลิกบทบาททางการแสดงครั้งใหญ่ของเธอในเรื่องนี้"

นักแสดง-นายแบบหนุ่มสุดเซ็กซี่ "ต๊อบ-ชัยวัฒน์ ทองแสง" รับบทเป็น "พจน์" นักธุรกิจและนักการเมืองหนุ่มแห่งสุพรรณบุรี ผู้ชายคนแรกที่มีสัมพันธ์สวาทกับเมขลา และมีความรักอันรุนแรงที่จะครอบครองเมขลาไว้แต่เพียงผู้เดียว จนทำให้เกิดความหายนะในท้ายเรื่อง
"การที่เลือก ‘ต๊อบ ชัยวัฒน์' มารับบทเป็น ‘พจน์' เพราะต๊อบมีบุคลิกลักษณะแบบชายไทยที่แท้จริง และเหมาะสมกับลักษณะนิสัยที่มุทะลุ ดุดัน และทรงอำนาจแบบเจ้าพ่อต่างจังหวัด แต่ในส่วนลึกเป็นผู้ชายที่รักเดียวใจเดียว ซึ่งต๊อบเขาปลื้มมากที่ได้รับบทสำคัญนี้"


มาแล้วเรื่องย่อฉบับเต็ม แม่เบี้ย ภาพยนตร์เรื่องที่อื้อฉาวที่สุดแห่งปี

เอ่ยชื่อ "แม่เบี้ย" แล้ว อีกสองสิ่งที่มักจะต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษและถูกกล่าวขานถึงไม่แพ้ทีมนักแสดงและองค์ประกอบอื่นๆ เลยก็คือ "งู" อีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่เมขลาจะเรียกด้วยเคารพรักเหมือนญาติผู้ใหญ่ว่า "คุณ" และ "ฉากอีโรติก" ของหลากหลายตัวละครในเรื่องนี้นั่นเอง

"เรื่องนี้ทุกๆ อย่างมีหมด มีทุกประการอย่างน้อยที่สุดยังไงก็เป็นหนังวิจิตรกามาคืออีโรติก คือความงามของเซ็กซ์เปรียบได้กับฉากอัศจรรย์ของวรรณคดีโบราณที่พูดถึงเรื่องบนเตียงมาก งูคือตัวละครสำคัญของเรื่อง พระเอก-นางเอกของเรื่องตัวจริงคืออะไร มันมีอะไรหลายๆ อย่างที่น่าจะคิดกัน ถ้ามองผิวเผินก็จะมองว่างูเป็นตัวร้าย งูเป็นสิ่งที่ดุร้าย เลวร้ายโดยทั่วๆ ไป แต่งูในตัวละครของพี่วาณิชจะออกมาทุกๆ ครั้งที่ตัวละครทำอะไรที่ไม่ดี ผิดศีลธรรม หรือจะออกมาฆ่าคนที่ทำบาป เพราะฉะนั้นงูคืออะไร งูจะลึบลับมาก เป็นประเด็นที่น่าดูมากๆ งูในนี้เวอร์ชั่นนี้จะแตกต่างมาก งูเป็นตัวละครสำคัญของเรื่องที่น่าขบคิด ถ้าสังเกตดีๆ งูจะปรากฏกายเมื่อตัวละครทำผิดบาปจริงๆ เท่านั้น งูอาจจะเป็นภาพสะท้อนของความเชื่อในความศักดิ์สิทธ์ของบรรพบุรุษ ของวิญญาณส่วนที่ดี เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ในปัจจุบันในโลกของวัตถุเห็นว่าไม่มีจริง หนังพูดหลายๆ อย่างว่าคุณเชื่อก็จะมี คุณไม่เชื่อก็จะไม่มี คนเราจะมีความเชื่อความศรัทธาที่แตกต่างกันไปมาก

มาแล้วเรื่องย่อฉบับเต็ม แม่เบี้ย ภาพยนตร์เรื่องที่อื้อฉาวที่สุดแห่งปี

ส่วนในเรื่องอีโรติกที่อยากรู้กันเนี่ย จริงๆ แล้วอีโรติกในแต่ละฉากในเรื่องก็จะมีความหมายต่างกัน มันขึ้นอยู่กับตัวละคร ก็มีอยู่ประมาณ 3-4 ฉาก ยกตัวอย่างฉากอีโรติกแรกของหนังจะเป็นฉากภาคภูมิกับสาวใช้ของเมขลาที่ใต้ถุนของบ้านระหว่างที่ข้างบนมีการแสดงหุ่นกระบอกรามสูร-เมขลา ฉากนั้นเป็นฉากแรกจะเห็นได้ชัดเลยว่าตัวละครภาคภูมิจะเป็นคนมักมากในกาม เป็นคนที่เสรีในเรื่องเพศมาก แล้วตัดสลับกับหุ่นกระบอก ซึ่งอันนี้มีความหมายที่ลึกซึ้งอยู่มาก หุ่นกระบอกเมขลากับรามสูรเป็นสัญลักษณ์ของพายุคือ พายุฝน ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ก็เพราะว่านางเมขลาล่อแก้วรามสูร ฟ้าผ่าก็คือรามสูรขว้างขวานไป มันก็เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เปรียบเทียบได้ระหว่างมนุษย์หญิง-ชายที่มีเคมีตรงกันจริงๆ จึงเกิดขึ้นได้บ่อยๆ แล้วก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของชนะชลที่เห็นเมขลาแล้วใจนึกอยากจะทำเช่นนั้น ซึ่งฉากของชนะชลและเมขลาเกิดจากการที่จริงๆ แล้วชนะชลโดนคลุมถุงชนบังคับแต่งงานกับไหมแก้ว มันไม่ได้เกิดขึ้นจากความรัก เวลาที่ชนะชลเจอเมขลาในชุดไทยเค้าจึงหลงใหลในความเป็นไทย หลงใหลในบรรยากาศบ้านนั้นที่ทำให้เกิดความรู้สึกคุ้นเคย มันเหมือนมีพลังงานบางอย่างที่สองคนนี้ดึงดูดกัน มันเลยกระตุ้นทำให้ชนะชลมีความรู้สึกทางเพศกับเมขลาที่ค่อนข้างรุนแรงโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นในฉากที่เค้ามีอะไรกันเนี่ยมันเลยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก เพราะความสัมพันธ์ของเมขลาและชนะชลมันมีอดีตที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของทั้งคู่เป็นทุนอยู่ มันเลยเป็นฉากที่ค่อนข้างรุนแรงมาก
มันอาจจะเป็นอีกก้าวหนึ่งจริงๆ ที่หนังไทยได้แสดงความงามของสรีระของผู้ชาย-ผู้หญิงมากๆ อย่างในฉากที่นั่งคุยกันโดยที่ผู้หญิงนั่งเปลือยอกหมดเลยหรือผู้ชายก็วับๆ แวมๆ ซึ่งเราก็ไม่ได้จงใจที่จะขายสิ่งเหล่านั้น แต่ในความเป็นจริงพวกเราก็ทำแบบนั้นอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ ซึ่งในภาพยนตร์เราก็คิดในพื้นฐานของความเป็นจริงทั้งหมด ก็ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าความคิดคำว่าเซ็กส์ของคนไทยแล้วเป็นอย่างไร มันก็เป็นเรื่องที่เราทำกันอยู่เป็นเรื่องปกตินะ คนที่ไม่ทำเลยคงต้องไปหาจิตแพทย์เป็นอย่างมาก นอกจากเป็นพระหรือสมณเพศ
ภาพยนตร์ทุกเรื่องของเราไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะทำแบบนั้น เพราะฉะนั้นแล้วอยากให้ทั้งคนดูและสื่อเข้าใจด้วยว่ามันไม่ได้ทำง่ายๆ มันต้องมีเหตุผลพอที่จะทำ คนอายุ 60 กว่าแล้วอย่างเราต้องให้คนมาสังวาสแล้วถ่ายกันแค่นั้นเหรอ ก็ไม่ใช่ แต่สิ่งเหล่านี้ทำผ่านชีวิตเรามามากแล้ว คิดด้วยซ้ำว่าเป็นเรื่องธรรมดา หรือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยซ้ำไป เพราะว่าประเด็นเหล่านี้คนไทยในยุคนี้ในยุคที่การทำงานภาพยนตร์เจริญเติบโตไปมาก พัฒนาไปมากถึงขนาดนี้แล้ว มันน่าจะใจกว้างพอที่จะมองออกว่างานที่ศิลปินอยากจะทำออกมาเพื่อนำเสนอเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ผ่านจอออกมานี้ที่จริงแล้วมันมีจุดประสงค์หรือวัตถุประสงค์อย่างไร ซึ่งคนอายุอย่างเราคงไม่ต้องมาทำเล่นๆ หรือว่าทำเอาสนุก มันถึงเวลาแล้วที่เราคิดว่าคนไทยน่าจะมีจิตใจกว้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเสพภาพยนตร์"



มาแล้วเรื่องย่อฉบับเต็ม แม่เบี้ย ภาพยนตร์เรื่องที่อื้อฉาวที่สุดแห่งปี

"บ้านเรือนไทยโบราณ" ถือเป็นสถานที่สำคัญหลักที่จะถูกใช้เป็นฉากหลังของเรื่องราวในภาพยนตร์ "แม่เบี้ย" เรื่องนี้ซึ่งเหตุการณ์กว่าครึ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นและดำเนินไปทั้งภายใน ภายนอก และรอบๆ อาณาบริเวณบ้านเรือนไทยหลังนี้นั่นเอง ซึ่งผู้กำกับฯ และทีมงานได้ค้นพบเรือนไทยโบราณริมแม่น้ำท่าจีนที่ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ซึ่งตรงตามบทประพันธ์จริงๆ จึงใช้ปักหลักถ่ายทำกันเกือบตลอดเรื่อง ซึ่งนับเป็นโลเกชั่นหลักของภาพยนตร์ อันเป็นที่มาของความลึกลับที่น่าสะพรึงกลัวที่ซ่อนเร้นอยู่ในทุกมุมมืดของบ้านนั้น"หลักๆ คือโลเกชั่นบ้านไทย ซึ่งบังเอิญมากเราได้บ้านไทยริมน้ำที่สุพรรณบุรี ที่บางปลาม้าจริงๆ ซึ่งไม่เคยผ่านการถ่ายทำภาพยนตร์หรืออะไรมาก่อนเลย ซึ่งเป็นบ้านเก่าเจ้าของเก่าทำร้านอาหารแล้วเลิกทำไป 3 ปีเลยทิ้งไว้ร้างๆ แบบนั้น เราก็เลยได้ไปรีโนเวทใหม่ ซึ่งสวยเหลือเกิน บรรยากาศก็ดีมาก แล้วเราก็เลยทำให้น่าเชื่อให้สมเป็นบ้านของเมขลาจริงๆ ดูลึบลับ มีอะไรบางอย่างที่มีกระแสคลื่นที่ลึบลับ ก็เหมาะกับบ้านหลังนี้มาก มันสวยมากๆ ยังคงความงดงามวิจิตรบรรจงอย่างสมบูรณ์ สมกับเป็นโลเกชั่นที่สะท้อนศิลปวัฒนธรรมไทยอันล้ำค่าซึ่งถูกทอดทิ้งโดยยุคสมัยที่มนุษย์นิยมวัตถุและเงินตรา"

และเนื่องจากภาพยนตร์แนววิจิตรกามา (Erotic) เรื่อง "แม่เบี้ย" เป็นภาพยนตร์ยุคปัจจุบันในรอบกว่าสิบปีของหม่อมน้อย ซึ่งผู้ชมมักจะคุ้นเคยกับผลงานภาพยนตร์แนวพีเรียดย้อนยุคเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้ได้มุมมองใหม่ในแง่ภาพที่นำสมัย หม่อมน้อยจึงใช้ตากล้องมือหนึ่งจากวงการโฆษณา "อุดม วรประคุณ" Technical Advisor Chief Operating Officer บริษัท Camera Corner และ Siamlite มาเป็น "ผู้กำกับภาพ" (Director of Photography) ในเรื่องนี้


"เรื่อง ‘แม่เบี้ย' นี้ เราต้องการมุมมองที่เก๋ไก๋นำสมัยแบบหนังโฆษณา จึงเป็นครั้งแรกที่เราใช้ตากล้องจากวงการโฆษณา คือ "คุณอุดม วรประคุณ" เพราะถ้าสังเกตดีๆ มันกลายเป็นหนังที่ไม่พีเรียดเรื่องแรกของเราในระยะหลังด้วยซ้ำไป ซึ่งก็ทำออกมาได้ดีทีเดียว มันได้แง่มุมใหม่ๆ ซึ่งเราไม่เคยเห็นแล้วเราไม่เคยทำด้วย

คือว่าในส่วนที่เป็นกรุงเทพฯ ทั้งหมด เราใช้เครื่องมืออย่างโดรนมาถ่ายในฉากเปิดเรื่องที่ภาคภูมิขับรถข้ามสะพาน เราใช้เครื่องมือมากขึ้น ให้มันดูทันสมัยมากขึ้น หรือการใช้มุมกล้องที่เป็นแฮนด์เฮลในบริษัทของชนะชล แสงที่มองดูเป็นเรื่องทันสมัย ในบ้านชนะชลที่เป็นบ้านในยุคปัจจุบัน ปกติบ้านเราเป็นบ้านพีเรียดหมด การใช้แสงเป็นแสงที่เหมือนจริงในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นมุมกล้องต่างๆ เป็นเรื่องทันสมัยกว่าหนังเรื่องอื่นๆ ที่ทำมา เพราะฉะนั้นเราถึงใช้ตากล้องที่มาจากวงการโฆษณา เวลาเมขลาอยู่ที่กรุงเทพฯ เขาจะเป็นผู้หญิงเก๋ๆ แต่พอไปอยู่บ้านที่สุพรรณก็จะดูเป็นไทย เพราะฉะนั้นมันจะมีความแตกต่างระหว่างกรุงเทพฯ ที่ทันสมัยกับบ้านที่สุพรรณที่มีความเป็นไทยมาก ซึ่งในหนังเรื่องอื่นเราไม่มี ซึ่งอันนี้มุมกล้องต่างๆ มันมีอะไรที่เก๋ไก๋ขึ้นมากว่าเดิมมาก ร่วมสมัยมากขึ้น ซึ่งเรามั่นใจว่าผู้ชมจะได้เห็นภาพที่งดงามประณีตและร่วมสมัยแตกต่างไปจากหนังเรื่องที่ผ่านมาของเรา และการตีความใหม่ในแง่บทประพันธ์จะทำให้แม่เบี้ยเวอร์ชั่นนี้แตกต่างไปจากเวอร์ชั่นอื่นๆ อย่างแน่นอน"

อีกหนึ่งสีสันของเรื่องนี้ก็คือดนตรีและเพลงประกอบภาพยนตร์ที่จะนำพาผู้ชมให้เข้าไปพบกับเรื่องราวความลึกลับของบ้านเรือนไทย สัมผัสท่วงทำนองชีวิต และสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครให้เด่นชัดมากยิ่งขึ้น
"ดนตรีประกอบเรื่องนี้ทำโดย ‘อาจารย์ปิติ เกยูรพันธ์' ที่ทำ ‘แผลเก่า' ให้เรามาก่อน ซึ่งก็น่าสนใจมาก เพราะว่าดนตรีธีมของเรื่องมีอยู่ 2 ธีม ธีมหนึ่งคือใช้ ‘เพลงลาวคำหอม' คือเพลงไทยเดิมมาทำใหม่ เป็นเพลงยุคเก่า คุณยายคุณย่าร้องกล่อมลูกหลาน มันเป็นเพลงเหมือนเพลงกล่อมลูก ซึ่งเป็นจิตวิญญาณของตัวเมขลา เป็นจิตวิญญาณของความเป็นไทย

กับอีกเพลงหนึ่งคือ ‘เพลงรู้กันแค่สองคน' ซึ่งแต่งใหม่เป็นเพลง R&B เป็นเพลงจิตวิญญาณของคนสมัยใหม่คือของผู้มีชู้ เพลงทันสมัยมาก เพื่อที่จะเห็นว่าเรื่องเซ็กส์เป็นเรื่องธรรมดา คือจิตเสรีเรื่องการเป็นชู้กัน มันอยู่ที่ใจมากกว่า แล้วก็เป็นเรื่องความลับนะรู้กันแค่ 2 คน เป็นคอนเซ็ปต์ของคนกรุงเทพฯ คนสมัยใหม่

ซึ่งทั้ง 2 เพลงนี้ก็ร้องโดย ‘ฮัท จิรวิชญ์' (ฮัท เดอะสตาร์) ที่เล่นเป็น ‘ภาคภูมิ' ซึ่งคุณปิติก็ทำออกมาได้ดีมาก ฮัทเองก็ร้องได้เพราะมาก แตกต่างกันมากทั้ง 2 เพลง"


มาแล้วเรื่องย่อฉบับเต็ม แม่เบี้ย ภาพยนตร์เรื่องที่อื้อฉาวที่สุดแห่งปี

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ผู้ชมจะได้จากภาพยนตร์เรื่อง "แม่เบี้ย" เวอร์ชั่นหม่อมน้อยนี้ย่อมแตกต่างจากเวอร์ชั่นอื่นๆ ที่เคยมีมาเป็นอย่างมาก ทั้งอรรถรสความบันเทิง รายละเอียดของเรื่องราว รวมถึงสาระและข้อคิดอันหลากหลายที่ผู้กำกับฯ ตั้งใจจะถ่ายทอดออกมาให้ตรงกับแก่นแท้ของสุดยอดบทประพันธ์นี้อย่างชัดเจน
"สิ่งที่ชัดเจนที่คุณวาณิชได้พูดไว้คือ ค่านิยมความเป็นไทยที่หายไป ไม่ว่าจะเป็นประเพณีหรือความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธ์ ความเชื่อในวิญญาณบรรพบุรุษภายในบ้านหรือความเชื่อความศัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งเหล่านี้คุณวาณิชได้เขียนไว้เกือบ 30 ปีมาแล้วซึ่งกลับมาคิดว่าไอเดียนี้ชัดเจนในปัจจุบันในขณะที่เราได้ลืมความเป็นไทย ความเป็นจิตวิญญาณของคนไทย เราถึงตัดสินใจทำหนังเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องพิศวาสความรักของชนะชลกับเมขลาอย่างเดียว มันกลายเป็นเรื่องปัจจุบันของใครหลายๆ คนที่ประพฤติบาปแบบไม่รู้ตัวเฉกเช่นกับเราทุกวันนี้ สิ่งที่คนดูจะได้รับคือ เราเหมือนใครในหนังเรื่องนี้บ้าง แล้วเราควรปรับปรุงแก้ไขในส่วนความคิดของเราอย่างไร เปลี่ยนความคิดเปลี่ยนอคติถือว่าเป็นเรื่องพัฒนาทำให้เราเป็นคนที่สมบูรณ์
อย่างที่บอกไป หนังมันเป็นเรื่องของ 2 โลก โลกหนึ่งคือ ‘กรุงเทพฯ' เป็นโลกแห่งวัตถุ กับ ‘บ้านเรือนไทยบางปลาม้า' เป็นโลกของจิตใจ เราเลยตั้งคำถามกับคนดูว่าจริงๆ แล้วเราอยู่ในโลกอะไร เราอยู่ในโลกของวัตถุ 100% รึเปล่า เราอยู่ในโลกของจิตใจ 100% รึเปล่า ทั้งๆ ที่ในหนังมันเป็นเรื่องที่แรงทั้ง 2 ด้าน ทั้งตัวละครที่ยึดมั่นรับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างเดียว เชื่อว่าวิญญาณไม่มีจริง สิ่งศักดิ์สิทธ์ไม่มีจริง ส่วนอีกโลกหนึ่งตัวละครก็ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีในความเชื่อในไสยศาสตร์ที่คนไทยเชื่อมาในอดีตกาล เรื่องนี้เลยได้มีการแสดงโลกแบบสุดขั้ว 2 โลกของตัวละครต่างๆ ระหว่าง 2 บ้านนี้ที่เดินเรื่องไปมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนะชลค้นพบตัวเองว่าคือใคร ค้นพบรากเหง้าของตัวเองจริงๆ ในบ้านโบราณหลังนี้
ถ้าจะดูหนังเรื่องนี้แค่ในเชิงความพิศวาสของชนะชลกับเมขลา มันก็คงจะไม่ใช่เรื่องแบบนั้นอย่างเดียว แต่จริงๆ มันก็มีอยู่เป็นพล็อตเรื่องนะ แต่ว่าถ้าดูอย่างชนิดที่ว่าตัวละครหลากหลายชีวิตที่ทำบาปโดยไม่รู้ตัว แล้วได้รับผลกรรมยังไงในเรื่องนี้ เราก็จะได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ได้รู้ธรรมชาติของคนรอบข้าง คุณอาจทำดีอยู่แล้วไม่ได้ประพฤติอย่างนั้น หรือพบว่าคุณพูดแบบนั้นทำแบบนั้นเหมือนตัวละครแล้วเค้าเจอหายนะแบบไหน เจอความเจ็บปวดอย่างไร คุณก็จะไม่ทำแบบนั้นหรือว่าคุณที่กำลังจะทำหรือเคยทำก็จะไม่ทำอีก ซึ่งดูแบบนี้คุณจะได้ความบันเทิงและก็จะได้เรียนรู้ข้อบกพร่องในตัวของคุณ เกิดปัญญาคิดพิจารณาให้เราพัฒนาขึ้น เป็นคนที่สมบูรณ์ขึ้นแม้จะเป็นคนที่ดีอยู่แล้ว มันก็จะมีอุทาหรณ์ว่าประสบการณ์เหล่านี้ของตัวละครเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง"



บทบาท-คาแร็คเตอร์

ชนะชล สุพรรณภูมิ (ชาคริต แย้มนาม) - หนุ่มใหญ่วัย 37 ปี ประธานบริษัทอสังหาริมทรัพย์ "สุพรรณภูมิ" ที่มั่งคั่งของเมืองไทย มองดูจากภายนอกเขาเป็นสุภาพบุรุษที่สมบูรณ์แบบที่หาที่ติไม่ได้ในสังคม มีครอบครัวที่น่าอิจฉา มีภรรยาที่สวยสง่า มีชาติตระกูลไม่แพ้กัน มีลูกสาวฉลาดน่ารัก แต่หนุ่มใหญ่ผู้นี้หาความสุขในชีวิตไม่ได้ เพราะในทุกขณะจิตของเขานั้นเขาตระหนักอยู่ตลอดว่า เขาเป็นลูกที่เก็บมาเลี้ยงของท่านสุจินต์ และคุณหญิงสาวิตรี เจ้าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ และสิ่งที่ทรมานจิตใจของเขานอกเหนือไปจากความปรารถนาที่จะพบบิดาและมารดาที่แท้จริงและรากเหง้าต้นกำเนิดของเขา ก็คือฝันร้ายว่าเขาจมน้ำตาย สิ่งเดียวที่เป็นน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตของเขาก็คือ บ้านเรือนไทยโบราณของเมขลาที่เขารู้สึกผูกพันเป็นพิเศษ
"ชนะชลเป็นคนนิ่ง ให้คนอ่านความรู้สึกจากข้างใน ทุกอย่างเป็นคนเก็บไว้ข้างใน คนอื่นจะอ่านความรู้สึกไม่ออก ว่าเศร้าหรือว่าเสียใจ หรือแม้กระทั่งดีใจ บางทียิ้มอยู่ แต่มันอาจจะเศร้าอยู่ก็ได้ ทุกอย่างอยู่ที่การแสดง 


จริงๆ แล้วผมไม่เคยดูเวอร์ชั่นเก่านะ แต่พอพูดถึง คนก็จะบอกว่า เป็นเรื่องของขูดมะพร้าวบ้าง เซ็กส์บ้าง แต่พอได้มาคุยกะหม่อม เราจะรู้วิธีเลือก มันมีแก่นมีหัวใจมากกว่าที่คนมองว่าหม่อมน้อยชอบทำหนังที่มีฉากอีโรติก แต่จริงๆ แล้วเค้าดูที่จิตใต้สำนึก สันดานดิบ หรือว่าแก่นแท้ของภาพยนตร์ และทุกอย่างมันก็มีอยู่ในมนุษย์ที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นหนัง มันก็เลยค่อนข้างเป็นอีโรติกที่ค่อนข้างรุนแรง
ถ้าจะบอกว่าเวอร์ชั่นนี้ใกล้เคียงกับบทประพันธ์ของอาจารย์วาณิช ผมคิดว่าน่าจะใกล้เคียงที่สุด แต่มันก็ต้องมีการดัดแปลงเพื่อมาเอนเตอร์เทนในเชิงภาพยนตร์เพื่อให้สนุก เพราะการจะทำภาพยนตร์ให้ตรงกับหนังสือ ผมว่าให้ตายยังไงมันก็สู้หนังสือไม่ได้ แต่นี่คือการดัดแปลงให้มันจบได้ภายในสองชั่วโมง แต่เชื่อว่าการเล่าเรื่องไม่ใช่แค่เพียงหนังอีโรติกหรือหนังขายเซ็กส์ที่ทุกคนเคยเข้าใจ ‘แม่เบี้ย' มา ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของสันดาน หรือความรู้สีกเบื้องลึกของมนุษย์มากกว่า ซึ่งมันจะนำไปสู่ความหายนะต่างๆ ของชีวิต เพราะฉะนั้นมันค่อนข้างลึกพอสมควร ลองมาดูกัน คงได้ข้อคิดเยอะเลยทีเดียวครับ"เมขลา พลับพลา (กานต์พิสชา เกตุมณี) - หญิงสาววัย 33 ปี เจ้าของบริษัท "เมขลาทัวร์" และเจ้าของเรือนไทยโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในบางปลาม้า สุพรรณบุรี เธอเติบโตมาในครอบครัวที่แตกร้าว เธอใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ และต่างประเทศทำให้เธอเป็นผู้หญิงทันสมัย เชื่อมั่นในตนเอง และใช้ชีวิตเสรีในทุกๆ ด้าน แต่ขณะเดียวกันก็สามารถเป็นสุภาพสตรีไทยโบราณในทุกครั้งที่ใช้ชีวิตในเรือนไทยที่บางปลาม้า โดยการปลูกฝังความเป็นไทยจาก "คุณโกสุม" มารดาของเธอ ยิ่งกว่านั้นเธอใช้ชีวิตกับผู้ชายมากหน้าหลายตาที่เธอพึงพอใจ และทิ้งผู้ชายทุกคนที่หลงรักเธอในทันที ราวกับจะแก้แค้นให้กับความเจ็บปวดของมารดาของเธอที่ถูกสามีทอดทิ้ง
"รู้สึกดีใจมากค่ะ พอเราได้รู้ว่าได้รับเลือกให้เล่นบท ‘เมขลา' นี้ เรารู้สึกว่า ‘หม่อมน้อย' ผู้กำกับที่เลือกเรานี้เป็นทั้งครูของเราและผู้กำกับที่มีผลงานมาอย่างยาวนานเป็นเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทยเลย เราก็รู้สึกดีใจมาก ตื่นเต้นมาก แล้วด้วยบทประพันธ์นี้เป็นของนักเขียนรางวัลซีไรต์ ‘คุณวานิช จรุงกิจอนันต์' ที่ประพันธ์เรื่อง ‘แม่เบี้ย' ออกมาได้อย่างสวยงามและทรงคุณค่า ซึ่งอ้อมเชื่อว่าถ้าใครได้อ่านนิยายนี้จะต้องได้แง่คิดในการใช้ชีวิต บทประพันธ์นี้มันสอนอะไรเราได้เยอะมาก ขั้นพื้นฐานเลยก็คือศีล5 ค่ะ
คือตอนแรกลืมคำว่า ‘แม่เบี้ย' อ๋อ..มันต้องมีเลิฟซีนเหรอ แล้วตอนนั้นยังไม่ได้คิดถึงเลยค่ะ แต่พอได้รับโอกาสให้เล่นบทนี้ก็พยายามทำเต็มที่ หม่อมก็เรียกมาเวิร์กช็อป เรียกมาเรียนการแสดงเพิ่ม แล้วก็เริ่มมาอ่านบท อีโรติกมันเยอะเหมือนกัน แต่ด้วยความที่เราเชื่อฝีมือในครูของเรา แล้วก็เชื่อว่าภาพยนตร์ที่หม่อมทำออกมาต้องออกมาสวยและดีแน่นอน แล้วมันเป็นเหตุผลหนึ่งของตัวละครด้วย ซึ่งเราก็ต้องรับผิดชอบบทในตรงนี้ออกมาให้ดีที่สุด ให้คนดูดูแล้วจะไม่อยากทำตามตัวเมขลาหรือตัวละครอื่นๆ ในเรื่องค่ะ
ฉากเลิฟซีนมันก็มีไปตามเรื่องราวที่มีอยู่ในเรื่องอยู่แล้ว มันก็เป็นส่วนหนึ่งในหนัง มีเหตุผล มีที่มาที่ไปของคาแร็คเตอร์ตัวละคร ก่อนที่เราจะถ่ายเราก็จะมีการเซฟอย่างดี พี่ๆ ทีมงาน พี่ๆ เสื้อผ้าก็ให้เกียรติเรา เวลาถ่ายจริงๆ ก็จะมีแค่ตากล้อง มีหม่อม แล้วก็มีนักแสดงเท่านั้นค่ะ ทุกคนจะทำงานกันอย่างมืออาชีพ ก่อนที่จะถ่ายเราก็ตื่นเต้นกันทุกคน แต่พอถึงเวลาถ่ายทำจริงๆ เริ่มแอ็คชั่นมันก็แบบ The Show Must Go On ทุกอย่างมันต้องเต็มที่ค่ะ ด้วยคาแร็คเตอร์เมขลา ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ต่างจากที่อ้อมในชีวิตจริง แต่มันก็เป็นไปตามบทประพันธ์ เป็นไปในแต่ละซีน เป็นอรรถรสของภาพยนตร์ อ้อมเชื่อว่าถ้าใครหลายๆ คนได้ไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ก็จะได้อะไรมากกว่าอีโรติกแน่นอนค่ะ"

 

 



ภาคภูมิ (จิรวิชญ์ พงษ์ไพจิตร) - ชายหนุ่มวัย 30 รองประธานบริษัทอสังหาริมทรัพย์ "สุพรรณภูมิ" เป็นบุตรชายคนเดียวของคุณดิเรก-ที่ปรึกษาอาวุโสของบริษัทสุพรรณภูมิ จึงทำให้ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงตกอยู่ในมือเขาอย่างง่ายดาย ทั้งที่วุฒิภาวะยังน้อย ภาคภูมิสนิทกับชนะชลตั้งแต่ยังเด็ก และรักเคารพชนะชลเหมือนพี่น้องร่วมสายโลหิต เขาจบการศึกษาจากปริญญาตรี มหาวิทยาลัยศิลปากรและจบปริญญาโทบริหารธุรกิจจากสหรัฐอเมริกา ทำให้เขาและเมขลาสนิทสนมกันเป็นพิเศษ เขาจึงเป็นสื่อกลางในความสัมพันธ์ของชนะชลและเมขลา
"ไม่รู้สึกหนักใจนะครับ ดีใจที่มีโอกาสมาเล่น ‘แม่เบี้ย' ซึ่งเราใช้ระยะเวลาในการซ้อมประมาณ 4 เดือน ทำให้เราแม่นกับตัวละคร กับบทอยู่ในหัวหมดแล้ว ซึ่งเราไม่ต้องกังวลเรื่องนี้เลย เราก็แค่แสดงออกไปตามธรรมชาติ เลยไม่ค่อยหนักใจ แต่พอถ่ายที่สุพรรณบุรีก็ร้อนมาก เสียงภายนอกค่อนข้างดังอยู่ มันก็เลยต้องใช้สมาธิอยู่กับตัวเองเยอะมากกว่าเดิม แต่พอกลับมากรุงเทพฯ ก็รู้สึกเป็นโลกของเรา ซีนออฟฟิศ ใส่ชุดเท่ๆ ตัวละครนี้มันเริ่มชัดขึ้น ก็รู้สึกดีใจ ไม่คิดว่าจะได้เล่น เพราะว่าเรื่องล่าสุดที่เล่นก็ ‘แผลเก่า' เพิ่งผ่านมาแค่ปีที่แล้วเอง ซึ่งมันก็เร็วมากเลย แต่ก็ทำเต็มที่ครับ เอาเวลามาซ้อม มาเรียนแอ็คติ้ง เพื่อที่จะได้แสดงตัวละคร ‘ภาคภูมิ' ออกมาให้ดีที่สุดครับ"

คุณโกสุม (อาภา ภาวิไล) - มารดาของเมขลา เธอเป็นกุลสตรีในตระกูลขุนนางเก่าแก่แห่งบางปลาม้าสุพรรณบุรี ถูกเลี้ยงดูในแบบฉบับของไทยโบราณ จนวิถีชีวิตของเธอถูกกลืนไปในขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและศีลธรรมอย่างเคร่งครัด โดยหันหลังให้กับความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง เธอรักษา "ความเป็นไทย" ในเรือนโบราณของเธอยิ่งชีวิต และทำทุกวิถีทางมิให้ความเจริญทางวัตถุเข้ามาทำลายขนบประเพณีที่เธอหวงแหน
"เรื่องนี้ไม่อยากให้โฟกัสแต่เรื่องฉากเลิฟซีน เพราะว่าหลายๆ คนได้ยินว่าเป็นภาพยนตร์ของหม่อมน้อย คนก็จะคิดว่ามีเซ็กซี่ มีโป๊ มีถอด แต่ก็อยากให้โฟกัสเรื่องของศีลธรรม เรื่องธรรมะ กฎแห่งกรรมมากกว่า เพราะว่าเรื่องนี้ถ้าดูกันจริงๆ จะทำให้ได้ข้อคิดมาก เพราะว่าตัวละครแต่ละตัวจะเป็นตัวอย่างของกฎแห่งกรรม ซึ่งมันก็เหมือนเป็นกระจกสะท้อนของตัวเราทุกคนเลยค่ะ คนที่ดูทุกคนมีกิเลสตัณหา มีเกิด แก่ เจ็บ ตายหมด มีเวียนว่ายตายเกิดกันหมด ซึ่งถ้าเราดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วกลับมามองตัวเองว่าบางทีเราอาจจะมีกิเลสตัณหาอยู่เยอะแต่เราไม่รู้ตัว ถึงเวลานี้เราก็จะได้รู้ว่าตอนนี้เราเป็นอย่างไร และบทสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร ก็อาจจะแก้ไขทันแล้วเดินทางไปในทางที่ถูกต้องได้มากกว่านี้ค่ะ"พจน์ (ชัยวัฒน์ ทองแสง) - นักธุรกิจและนักการเมืองหนุ่มวัย 33 บุตรชายพ่อค้าผู้มั่งคั่งแห่งบางปลาม้า สุพรรณบุรี เป็นเพื่อนสนิทกับเมขลามาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ทั้งคู่มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพจน์ซึ่งรักเมขลา ด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่เมขลามองเขาแค่เพื่อนสนิทเท่านั้น แม้เขาจะเป็นผู้ชายคนแรกที่มีสัมพันธ์สวาทกับเธอก็ตาม เมื่อทั้งคู่เรียนจบ พจน์ถูกบิดาจับแต่งงานมีครอบครัว แต่เขาก็ไม่อาจตัดใจจากเมขลาได้ เขายังคงมีสัมพันธ์กับเธอเรื่อยมา ทั้งๆ ที่ทราบอยู่เต็มอกว่าเมขลามีชายอื่นอีกมากมาย แต่เขาก็ยังมีความรักและความต้องการอันรุนแรงที่จะครอบครองเมขลาไว้แต่เพียงผู้เดียว จนทำให้เกิดความหายนะต่อชีวิตเขาเอง
"รู้สึกดีใจมากที่ได้มาเล่นกับหม่อม ผมมองว่าเป็นโอกาสที่ยากมากๆ สำหรับดาราตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ยังไงก็ต้องขอขอบคุณหม่อมมากๆ ที่ให้โอกาสมาเล่นเรื่องนี้ ถือเป็นความแปลกใหม่มาก เพราะว่าเราได้มาเจอกับมืออาชีพจริงๆ วางแผนการทำงานทุกอย่างดี มีการเรียน เวิร์กช็อป มีการสอน ทุกอย่างคือดีหมดเลยฮะ ชอบมากๆ
เรื่องนี้ไม่ได้ปรับตัวอะไรมาก ใช้ความเป็นตัวเองเล่น เพราะว่าตัวพจน์เป็นคนรักจริง เฟรนด์ลี่ ตรงไปตรงมา เป็นคนรักคนในครอบครัว รักเพื่อนพ้อง มันก็แตกต่างจากบทอื่นๆ ไปเลยครับ เพราะว่าในเรื่องที่ผ่านๆ มา เราก็รับบทหลายอย่าง เช่น เกย์, กะเทย, นักรบ, ผี, คนโรคจิต เราสามารถเล่นได้หมด แตกต่างหมด วัยของพจน์เรื่องนี้ก็น่าจะ 30 ต้นๆ ก็ถือว่าสูงวัยกว่าตัวผม แต่ด้วยการเปลี่ยนลุกส์เสื้อผ้าหน้าผมและการแสดงก็ทำให้สมบทบาทได้ครับ


ลุงทิม (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) - ชายชราวัย 60 เศษ คนเฝ้าบ้านไทยโบราณตระกูล "พลับพลา" ที่บางปลาม้า ครอบครัวของเขาเป็นข้าเก่าของตระกูลนี้ มาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวด จึงล่วงรู้ความลับในพฤติกรรมของทุกคนในบ้าน เขารู้สึกว่าบ้านนี้เป็นบ้านบาป เพราะผู้ชายในบ้านนี้ล้วนแล้วแต่ประพฤติผิดในกามคุณและนอกเหนือสิ่งอื่นใด ลุงทิมเป็นบุคคลเดียวเท่านั้นที่ล่วงรู้ถึงความเร้นลับอันมีอำนาจเหนือธรรมชาติในเรือนไทยโบราณแห่งนี้โดยไม่ปริปากพูดแม้แต่คำเดียว

 



“งู” คืออะไร

ที่กล่าวขาน ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในหมู่นักคิดและนักอ่าน รวมทั้งผู้ชมภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ นับตั้งแต่วรรณกรรมเรื่อง “แม่เบี้ย” ของ “วาณิช จรุงกิจอนันต์” ถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นนวนิยาย และถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ทั้ง 2 ครั้ง และละครโทรทัศน์อีก 1 ครั้ง ว่า “งู” ในเรื่องนี้คืออะไรกันแน่ บ้างก็ว่าเป็นตัวร้าย บ้างก็ว่าเป็นวิญญาณบรรพบุรุษของเมขลาผู้มาพิทักษ์ศีลธรรมจรรยาของเมขลา หรือบ้างก็ว่าเป็นจิตสำนึกในคุณงามความดีของเมขลา ฯลฯ ทำให้งูถูกตีความหมายไปอย่างหลากหลายไปตามวิจารณญาณของผู้วิพากษ์ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ งูนั้นเป็น “สัญลักษณ์” ของอะไรบางอย่างอันมีความหมายลึกซึ้งที่ผู้ประพันธ์ได้ซ่อนเอาไว้ภายใต้ตัวอักษรอันสลวยวิจิตรบรรจงของเขา

“งู” ตามคติของมนุษย์นับตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน มักจะถูกมองเป็นอำนาจของความชั่วร้าย ความน่าสะพรึงกลัว และเป็นศัตรูตัวฉกาจที่จะนำความหายนะมาสู่มวลมนุษยชาติซึ่งเราจะเห็นได้จากงูในสวนอีเดนซึ่งพรากความบริสุทธิ์ไปจากอาดัมและอีวาในคติของไบเบิลในโลกตะวันตก ส่วนในโลกตะวันออก “งูใหญ่” หรือ “พญานาค” นั้นนอกจากจะถูกมองเป็นสิ่งที่ทรงพลังอำนาจลึกลับ ประดุจกึ่งเทพกึ่งสัตว์แล้ว พญานาคในพุทธคติยังถูกมองว่า เป็นมหามิตรผู้ปกป้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากบ่วงภัยเพื่อเสด็จสู่พระสัมมาสัมโพธิญาณ และยังทูลขอบรรพชาเพื่อเป็นสมณเพศอีกด้วยจนต้องเกิดประเพณีบวชนาคจนถึงปัจจุบัน

ไม่ว่า “งู” จะถูกตีความหมายไปในทิศทางใด ความน่าสะพรึงกลัว ความลึกลับ และอำนาจอันทรงพลังแห่งพิษร้ายก็ยังเป็นคุณสมบัติที่ปรากฏอยู่ใน “แม่เบี้ย” ไม่ว่าในภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ในทุกยุคทุกสมัย

และในภาพยนตร์เรื่อง “แม่เบี้ย” ในครั้งนี้ก็เช่นกัน แม้ “งู” อาจจะถูกตีความหมายให้แตกต่างไปตามยุคสมัย และรสนิยมของผู้ชมภาพยนตร์ในปัจจุบัน แต่การปรากฏตัวของ “คุณ” หรือ “งู” ใน “แม่เบี้ย” ก็จะปรากฏตัวออกมาในฉากที่ตัวละครเอก “คิด” ที่จะทำผิดศีลธรรมและขนบธรรมเนียมอันดีงามดังที่ปรากฏในวรรณกรรมเรื่องนี้นั่นเอง

 



วัตถุประสงค์ในการสร้างภาพยนตร์

1)       อนุรักษ์วรรณกรรมแห่งชาติ และการอ่านหนังสือ

                ในสังคมที่ความเจริญทางวัตถุโดยเฉพาะอย่างนวัตกรรมอินเตอร์เน็ต มีบทบาทสำคัญในชีวิตของชาวไทยจนเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ชาวไทยอ่านหนังสือน้อยลงจนติดระดับโลก และที่น่าละอายเป็นที่สุดชาวไทยในยุคปัจจุบันรู้จักวรรณกรรมไทยน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณคดีไทยจนอาจพูดได้ว่า “ไม่รู้จักเลย” ในคำนำของวรรณกรรมเรื่อง “แม่เบี้ย” นั้น “วาณิช จรุงกิจอนันต์” ได้เขียนไว้ว่า “การอ่านคือรากฐานสำคัญ” และนำเสนอคุณค่าของการอ่านวรรณคดีในบทสนทนาของ “ชนะชล” และ “เมขลา” ตัวละครเอกของเรื่องอันเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของทั้งคู่

 

2)       อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมแห่งความเป็นไทย

                นอกจากคุณค่าทางด้านวรรณศิลป์แล้ว ภาพยนตร์เรื่อง “แม่เบี้ย” ยังสะท้อนถึงการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และ ขนบธรรมเนียมอันดีงามของชาวไทย อาจพูดได้ว่า “บ้านเรือนไทยโบราณ” ของเมขลาที่บางปลาม้า สุพรรณบุรี ตัวละครเอกของเรื่องเป็น “สัญลักษณ์” ของ “ความเป็นไทย” ที่กำลังจะสูญสลายไปในโลกของวัตถุ และตัวละครเมขลาและชนะชลต่างก็เป็นตัวแทนของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่รักและหวงแหนในความเป็นไทย ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปรไปตามกระแสโลก ซึ่งจะถูกถ่ายทอดออกมาในรูปของอาหารแบบไทยเดิม การอนุรักษ์พรรณไม้ไทย การแต่งกายแบบไทย ตลอดจนศิลปะการแสดงการเชิดหุ่น ฯลฯ ซึ่งปรากฏอยู่ในวิถีชีวิตที่เรือนไทยโบราณของเมขลา

 

3)       อนุรักษ์ศีลธรรมอันดีงาม

                ตัวละครเอกในภาพยนตร์เรื่อง “แม่เบี้ย” ทุกตัวล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนของ “คนบาป” ที่ผิดศีลธรรมซึ่งไม่ต่างไปจากพฤติกรรมของคนไทยในยุคโลกาภิวัตน์นี้ที่เห็นว่าคำสอนในสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ “เชย” และ “ตกยุค” จนไม่เห็นความสำคัญของบาปบุญคุณโทษจนก่อให้เกิดปัญหาในสังคมทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับครอบครัวหรือระดับประเทศชาติ ซึ่ง “ความหายนะ” ของตัวละครเอกในตอนจบของภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นสิ่งที่ตอกย้ำต่อผู้ชมว่า การประพฤติผิดศีลธรรมจรรยานั้นจะส่งผลร้ายเช่นไรกับชีวิต ทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึก “ละอายต่อบาป” ซึ่งเป็นสัญชาตญาณที่ทำให้มนุษย์สูงส่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน

 

4)       ตีแผ่ธาตุแท้ของมนุษย์

                การกระทำของมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ล้วนแล้วแต่มีเหตุผลของการกระทำนั้นๆ เป็นแรงผลักดัน (motivation) เสมอ และมักจะมีเหตุจากสภาวะแวดล้อมและประสบการณ์ชีวิตจาก “อดีต” เสมอไม่ว่าจะเป็นอดีตชาติหรือชาติปัจจุบัน “ตัวละคร” สำคัญทุกตัวในละครเรื่องนี้ล้วนแล้วแต่มี “ปม” ในจิตใจอันเกิดจากสภาวะครอบครัวในอดีต ซึ่งส่งผลให้เขาเหล่านั้นต้องประพฤติตนผิดบาปและผิดกรอบประเพณีอย่างอภัยให้ไม่ได้ จนชะตากรรมของเขาต้องประสบกับหายนะในต่างกรรมต่างวาระกันไป

 

 



เกี่ยวกับผู้ประพันธ์: วาณิช จรุงกิจอนันต์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ (วรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน)

“วาณิช จรุงกิจอนันต์” เกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2491 ที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนบางปลาม้าสูงสุมารผดุงวิทย์ อันเป็นโรงเรียนประจำอำเภอบางปลาม้า แล้วเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนช่างศิลป์ กรุงเทพฯ จบปริญญาตรีสาขาวิชาภาพพิมพ์จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จบการศึกษาปริญญาโทจากคณะศิลปะ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองลองบีช สหรัฐอเมริกา เมื่อเขากลับมาจากอเมริกาก็ยึดอาชีพนักเขียน โดยมีผลงานหลากแนวหลายประเภท ทั้งเรื่องสั้น, นวนิยาย, สารคดี, บทความ, บทละครโทรทัศน์ และบทภาพยนตร์ ผลงานด้านนวนิยายดีเด่น อาทิเช่น แม่เบี้ย, เคหาสน์ดาว, ตุ๊กตา, บ้านเกิดและเพื่อนเก่า, ยามเมื่อลมพัดหวน, ซอยเดียวกัน (ได้รับรางวัลซีไรต์ พ.ศ.2527) ฯลฯ วาณิช จรุงกิจอนันต์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 พ.ค. พ.ศ.2553 ด้วยโรคลูคีเมียฉับพลัน


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์