ชิงหมาเถิด (T้ำhe Dog) : หนังตลกร้ายของอ๊อฟ พงษ์พัฒน์ กับหลากหลายเหตุผลที่ควรรีบไปดูในโรง

ชิงหมาเถิด (T้ำhe Dog) : 


หนังตลกร้ายของอ๊อฟ พงษ์พัฒน์


อย่าตัดสินหนังทั้งเรื่องเพียงแค่เห็นหนังตัวอย่าง


เห็นตัวอย่างหนังครั้งแรกบอกตามตรงไม่เคยคิดจะดูหนังเรื่องนี้เลย เพราะเบื่อกับบรรดาหนังตลกคาเฟ่ที่เอาแต่ขายขำหาสาระอะไรไม่ค่อยได้ แม้เป็นงานกำกับหนังลำดับ 3 ของนักแสดงมากความสามารถอย่าง พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ที่ผมชื่นชอบผลงานก่อนหน้านี้ทั้ง Me…Myself  ขอให้รักจงเจริญ และ แฮปปี้เบิร์ธเดย์ แต่พอคุณอ๊อฟเปลี่ยนแนวจากหนังรักมาเป็นหนังลัก(ขโมย)เลยไม่มั่นใจว่าจะดูสนุกเหมือนสองเรื่องก่อนหรือเปล่า หลังติดตามข่าวสารจากกระทู้ต่างๆในอินเตอร์เน็ตและสอบถามคนที่ดูมาแล้ว ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ชิงหมาเถิด” เป็นหนังตลกที่มีอะไรมากกว่าความตลกซึ่งหาได้ไม่ง่ายนักสำหรับหนังไทย อย่าตัดสินหนังทั้งเรื่องเพียงแค่หนังตัวอย่างทั้งที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์




ต้องบอกว่าชิงหมาเถิดเป็นหนังตลกร้ายประชดประชันเสียดสีสังคมชนิดที่คนดูจะขำก็ขำได้ไม่เต็มปาก เพราะมันเป็นเรื่องราวของชายสามคน เด่น (โก๊ะตี๋ อารามบอย) ตัวแทนคนชั้นกลางกินเงินเดือนที่โดนไล่ออกจากงาน แบงค์ (บอย : ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์) ลูกชายเจ้าของสวนสัตว์ที่ไม่กินเส้นกับพ่อ เพราะพ่อไปให้ความสำคัญกับหมาหิมะ สัตว์หายากจากดินแดนภาระตะมากกว่าลูกชายของตัวเอง อาร์ท (มาริโอ้ เมาเร่อ) เด็กอัจฉริยะเหรียญทองคอมพิวเตอร์โอลิมปิค ที่ต้องการทดสอบความสามารถของตัวเองด้วยการเข้าไปขโมยหมาหิมะเพื่อนำมาถ่ายรูปคู่กับเหรียญทองที่ตนได้รับแล้วนำมันกลับไปคืนดังเดิม ขณะที่เด่นและแบงค์ กำลังวางแผนขโมยหมาตัวนี้มาฆ่า ด้วยความหมั่นไส้ที่มันกลายเป็นขวัญใจของคนทั้งประเทศและกำลังจะมีงานฉลองครบรอบวันเกิด 1 ขวบอย่างยิ่งใหญ่ โชคชะตาเล่นตลกนำคนทั้งสามที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนต้องมาร่วมหัวจมท้ายด้วยกัน จากเรื่องเล็กๆกลับกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต การไล่ล่า การหลบหนี ชะตากรรมสุดแสนเลวร้ายที่ค่อยๆคืบคลานใส่คนทั้งสามจนแม้แต่ชีวิตก็แทบจะเอาตัวไม่รอด




ช่วงแรกของหนังจะเน้นไปที่ความสนุกสนานเฮฮาแบบในตัวอย่าง มุกตลกเหน็บแนมแสบๆคันๆกับข่าวคราวซึ่งปรากฏทางหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งจีที 200 แก๊สน้ำตา ระเบิดเอ็ม 79 ปืนเอ็ม 16 ใครที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารอาจไม่ตลกกับมุกเหล่านี้ พงษ์พัฒน์ให้สัมภาษณ์ว่าตัวเขาเองไม่ถนัดกับมุกตลกตึ่งโป๊ะแบบโน้ต หม่ำหรือผู้กำกับที่ผันตัวเองมาจากนักแสดงตลก แต่ตลกในแบบอ๊อฟจะเป็นตลกร้ายเสียดสีประชดประชัดสังคมตามบุคลิกของผู้กำกับมากกว่า


ดังนั้นใครที่ต้องการเข้าไปดูมุกตลกแบบหัวเราะงอหายฮากันแทบตกเก้าอี้บอกเลยว่าหนังเรื่องนี้ไม่มี เพราะหลังผ่านช่วงแรกไปแล้วหนังจะเครียดขึ้นเรื่อยๆตามแรงกดดันที่ถั่งโถมใส่ตัวละคร จากหนังตลกค่อยๆเปลี่ยนเป็นหนังชีวิตชนิดที่คุณต้องเกิดคำถามในใจเรื่องราวอันเลวร้ายทั้งหมดในหนังต้นเหตุที่แท้จริงมันเกิดจากสาเหตุใด จุดนี้เองน่าจะเป็นส่วนที่โดนใจนักดูหนังที่ต้องการสาระได้ขบคิดหลังเดินออกจากโรง แต่ถ้าจะมาเอาความฮาแบบไม่คิดอะไรมากแค่ได้หัวเราะก็พอคงสาบส่งหนังเรื่องนี้ที่ไม่เห็นตลกเหมือนในตัวอย่าง



ฉะนั้นตัวอย่างหนังจึงมีส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้คนดูประทับใจหรือผิดหวังกับหนังเรื่องนี้ ใครที่ดูตัวอย่างแล้วตั้งใจเข้าไปฮากลับไม่ฮาก็ผิดหวัง  ส่วนคนที่ดูตัวอย่างแล้วรู้สึกเฉยๆไม่ตั้งความหวังอะไรมากนักพอได้ดูกลับดีกว่าที่คิด ชิงหมาเถิดจึงมีทั้งคนดูที่ชอบและไม่ชอบ พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าหนังจะดีเลิศมากมาย ตัวหนังยังมีข้อบกพร่องขาดเหตุผลที่มาที่ไปในหลายๆจุดโดยเฉพาะบทมือปืน (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) ที่ตามฆ่าเด่น แบงค์ อาร์ท รวมถึงความลื่นไหลของหนังที่ยังดูสะดุดไม่ต่อเนื่องในหลายๆส่วน การที่เป็นหนังตลกอาจพอให้อภัยข้อบกพร่องเหล่านั้นไปได้บ้าง




แต่สิ่งที่อยากจะพูดมากที่สุดคือ สารที่ผู้กำกับต้องการสะกิดให้คนดูได้ฉุกคิดว่าตัวละครอย่าง เด่นพนักงานบริษัทที่ชอบอู้งานปรับแต่งเครื่องตอกบัตรให้ตอกตรงตามเวลาที่ตัวเองต้องการ เมื่อเจ้านายจับได้จึงถูกไล่ออก เด่นประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมขอเงินชดเชยที่เขาควรได้รับจากการเลิกจ้าง


แบงค์ ลูกไม่รักดีเข้าออกโรงพักเป็นว่าเล่นมักทำเรื่องวุ่นวายกวนใจให้พ่อคอยช่วยจัดการเสมอๆ ไม่เคยทำตัวเป็นลูกที่ดีแต่กลับหาวิธีเรียกร้องความรักความสนใจจากพ่อด้วยการกระทำที่ไม่ถูกต้อง


อาร์ท ใช้ความอัจฉริยะของตังเองไปในทางที่ผิดเพียงเพื่อโชว์ความเจ๋งเท่านั้น แทนที่จะใช้มันเพื่อการแข่งขันหาทุนในการศึกษาต่อ



ทั้งสามตัวละครล้วนไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเองว่าควรหรือไม่ควรทำอะไร แต่กลับเรียกร้องหาหน้าที่ความรับผิดชอบจากคนอื่นที่พึงกระทำให้กับตนเอง ถ้าเด่นตั้งใจและซื่อตรงต่องานที่ทำ แบงค์ทำตัวเป็นลูกที่ดีของพ่อ อาร์ทตั้งใจเรียนมุ่งมั่นต่อการสอบชิงทุนการศึกษา เรื่องราวเลวร้ายต่างๆคงไม่เกิดขึ้น ดังนั้นถ้าคนเรารู้จักบทบาทหน้าที่ของตัวเองไม่ก้าวก่ายเรียกร้องหาหน้าที่ของคนอื่น สังคมเราคงจะสงบสุขไม่สับสนวุ่นวายเหมือนอย่างที่เป็นอยู่


การใช้หมาหิมะเป็นสัญลักษณ์แทนความเชื่อที่ถูกปั่นสร้างกระแสจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกรูปแบบจนคนในสังคมหลงใหลคลั่งไคลอย่างขาดสติ โดยหลงลืมที่จะสืบค้นที่มาของสิ่งนั้นว่ายังคงอยู่หรือถูกปรับเปลี่ยนไปตามนายทุน กลุ่มผลประโยชน์ที่คอยชักใยอยู่เบื้องหลังมากน้อยเพียงใด มันสะท้อนให้เห็นถึงความฉาบฉวยของคนในสังคมที่มักจะรับสิ่งต่างๆที่คนอื่นหยิบยื่นให้มากกว่าควานหามันด้วยตัวเอง ฉากจบของหนังมันจึงเหมือนการทิ้งทุ่นคำถามไว้ให้กับคนดูได้ขบคิดว่าการกระทำของแบงค์มันเป็นสิ่งที่ถูกหรือผิดที่สังคมนี้ควรจะได้รับ



เชื่อว่าหลายคนคงเกิดคำถามมากมายในใจหลังดูหนังจบ บางคนถึงกับจับตัวละครทั้ง 3 มาแบ่งแยกสีว่าแต่ละคนเป็นตัวแทนของคนสีใด สำหรับผมต้องใช้เวลาในการตกตะกอน ความคิดอยู่พอสมควรว่าหนังสะท้อนแง่มุมอะไรบ้างกับสังคมที่เป็นอยู่นี้ แต่มีสิ่งที่ผมได้รับทันทีที่ออกจากโรงก็คือ อย่าตัดสินหนังทั้งเรื่องเพียงแค่ได้เห็นหนังตัวอย่างเพราะอาจพลาดหนังที่มีแง่มุมดีๆให้กลับไปขบคิด แล้วผมยังบอกกับตัวเองอีกว่า อย่าตัดสินคนทั้งคนเพียงแค่รูปกายภายนอกหรือคำบอกกล่าวจากผู้อื่นจนกว่าจะรู้จักคนๆนั้นอย่างลึกซึ้งจริงๆเท่านั้น


--------------------

กาง-แปรง

05/11/2010





grang-prang@hotmail.com
Facebook : กาง-แปรง กาง-แปรง 


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์