Final Score เป็นอะไรที่มากกว่า 365 วัน

เป็นภาพยนตร์อีกหนึ่งลำดับของค่าย GTH


ที่เมื่อดูแล้วก็ให้หวนย้อนกลับมาดูตัวเอง ว่าก็เคยเป็นอย่างนั้น เคยผ่านตรงจุด ๆ นั้นมาเหมือนกัน กับชีวิตการเตรียมสอบ Entrance ที่เป็นเสมือนด่านทดสอบสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของเหล่าเด็กมัธยมปลาย


Final Score 365 วันตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์


ภาพยนตร์ที่ถูกระบุว่าเป็นกึ่งหนังกึ่งสารคดีนำเสนอชีวิต (จริง) ของนักเรียนมัธยมชั้นปีที่ 6 กลุ่มหนึ่งที่กำลังจะเข้าสู่สังเวียนการทดสอบความรู้ครั้งใหญ่ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยอุดมศึกษาที่ใฝ่ฝัน ท่ามกลางแรงกดดันต่าง ๆ นานา


การชูความเป็น Reality ทำให้ Final Score มีความน่าสนใจ


ยิ่งการหยิบจับประเด็นการสอบเอ็นทรานซ์ของเด็กวัยมัธยมให้เข้ามาเป็นแรงขับของหนัง คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายคนเหมือนโดน "จี้จุด" ในบัดดล เพราะช่วงเวลาที่ขึ้นชื่อว่ามันส์ สนุก เฮฮาที่สุด ไปจนถึงเศร้าซึ้ง และประทับใจที่สุด ส่วนตัวแล้วเห็นว่าก็คือช่วงตอน ม.ปลาย นี่ล่ะ ที่ได้นึกถึงเมื่อไหร่ก็สดใสกระปรี้กระเปร่าในใจทุกที และ Final Score ก็ได้พาผมย้อนกลับไปรำลึกถึงช่วงเวลานั้นอีกครั้ง ตามสูตรหนังของค่ายนี้


Final Score เมื่อดู ๆ ไป


บางครั้งชวนให้คิดว่านี่คือหนังสารคดีที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย นอกจากการลงแรงที่เชื่อว่าต้องหนักหนาสาหัสเอาการของทีมถ่ายทำ ที่ต้องคอยเอากล้องไปถ่ายตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์คนหนึ่ง (กลุ่มหนึ่ง) ยิ่งด้วยเป็นหนังที่ไร้บท ไร้สคริปต์ตายตัว ที่ใน 365 วัน อะไร ๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ก็มีบ้างบางฉากบางตอนบางคำพูดของตัวละครที่อดอคติคิดไม่ได้ว่า เหมือนถูกจงใจเขียนแต่งขึ้นมาเป็นคำรูปประโยคอันสวยหรูดูดี แต่อย่างไรก็ช่างเถอะ เพราะมันก็มีสาระชวนให้คิดดี



หนังถูกตัดต่อให้อยู่ภายในเวลาฉายที่จำกัดชั่วโมงกว่า


ได้ค่อนข้างต่อเนื่อง 10 นาทีแรกช่วงแนะนำตัวละครค่อนข้างดูเข้าใจยาก แต่จากนั้นหนังน่าติดตามด้วยบรรยากาศในครอบครัวที่แสนอบอุ่นของ "เปอร์" ตัวละครหลักของเรื่อง ที่ชวนให้ผมเหมือนนั่งดูตัวเองผ่านจอภาพยนตร์ โดยเฉพาะฉากแม่ลูกคุยกัน ที่แม่พูดคำลูกก็เถียงคำไปเรื่อย ซึ่งไม่ใช่ชวนทะเลาะหรือก้าวร้าวเอาความ แต่กลับเป็นเรื่องปกติธรรมดาตามประสาลูกชายนิสัยแข็งกระด้าง


ครอบครัวใน Final Score -


ครอบครัวของ "เปอร์" จึงอาจเรียกว่าเป็นครอบครัวตัวอย่างที่ดีได้ ที่ประกอบไปด้วย "พ่อ" ผู้นำครอบครัวที่เป็นแบบอย่าง (Role Model), "แม่" ผู้เป็นที่ปรึกษาพูดคุยได้ทุกเรื่อง

ดังนั้นเราจึงไม่พบกับปัญหาหรือเรื่องความกดดันใด ๆ ในครอบครัวนี้

ที่จะมาเกี่ยวพันกับการเรียนของเปอร์ ทำให้ Final Score เทน้ำหนักส่วนใหญ่ไปกับการดำเนินชีวิตแบบธรรมดา ๆ ของเด็กนักเรียน ม.6 คนหนึ่ง ที่มีพร้อมเกือบทุกอย่าง ทั้งพ่อแม่ที่คอยสนับสนุน, ครอบครัวที่อบอุ่น, สถาบันการศึกษาดีมีชื่อเสียง และกลุ่มเพื่อนสนิทที่เข้าใจ เพียงแต่สิ่งเดียวที่จะมาเติมเต็มทั้งหมดของชีวิตวัยรุ่นคือ "ความรู้" ที่เด็กหนุ่มจะต้องขวนขวายและพยายามไขว่คว้าให้ได้ด้วยตัวเองเท่านั้น


หากจะพูดในแง่ปรัชญาส่วนตัวกันสักนิด


ในเรื่องของการศึกษาสำหรับผมแล้ว นับเป็นสิ่งแรกที่ทำให้มนุษย์รู้จักคำว่า "ความพยายาม" เราเคยรู้ว่าการจะสอบให้ได้คะแนนดี ๆ ก็ต้องพยายามตั้งใจเรียน ในประเด็นของ Final Score ก็เช่นกัน ที่มุ่งนำเสนอไปถึงการสอบเอ็นทรานซ์ (ระบบการสอบอันเข้มข้นที่สุดของการศึกษา)

ที่เราจะได้เห็น "วิถีแห่งความพยายาม" ครั้งยิ่งใหญ่ของเด็กม.ปลาย ที่เต็มไปด้วยความกดดันรอบด้าน ความมุ่งหวังที่จะต้องสอบเข้าเรียนคณะที่อยากเรียน มหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝันให้ได้ ซึ่งไม่ใช่แค่ เปอร์, โบ้ท, ลุง หรือ บิ๊กโชว์ ในเรื่อง แต่มันคือสิ่งที่ใครหลายคนอาจจะกำลังเผชิญอยู่หรือเคยพยายามแบบนั้นมาแล้ว


Final Score ยังสะท้อนถึงปัญหาโลกแตกอย่างหนึ่งในช่วงชีวิตวัยรุ่น


ที่ต้องเลือกเมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจ กับอนาคตที่ใฝ่ฝัน หรือสิ่งที่อยากเป็น มีเด็กนักเรียนจำนวนไม่น้อยเลยที่อ้ำ ๆ อึ้ง ๆ กับคำถามที่ว่า "โตขึ้นอยากเป็นอะไร?" เหมือนกับคำถามที่ลุงไล่ถามเพื่อน ๆ ซึ่งก็ได้คำตอบที่ก่อเกิดเป็นนิทานขำขำ "นายกฯ กับ ยาม" ที่กลุ่มเพื่อนนั่งถกเถียงกันอย่างซีเรียสบนชายหาดยามค่ำคืน



หากเป็นในวัยเด็กคำตอบจากคำถามที่ว่า


"โตขึ้นอยากเป็นอะไร?" คงเป็นไปตามประสา ๆ เด็ก ๆ ตอบ ที่ส่วนใหญ่ไม่พ้น ทหาร, ตำรวจ, หมอ, ครู, นักบิน, อาจลามไปถึงยอดมนุษย์เทือกไดเรนเจอร์, ไรเดอร์เอ็กซ์, อุลตร้าแมน, พิคคาโร่, เบจิต้า ฯลฯ แต่ก็ยังดีที่มีความฝันตุน ๆ เอาไว้ตั้งแต่เด็ก เมื่อใครถามก็ตอบไป เป็นไปได้หรือไม่นั่นก็อีกเรื่อง ผิดกับคนที่ไม่เคยนึกว่าตัวเองจะเป็นอะไรได้บ้างที่ช่างน่าสงสาร



การศึกษาตั้งแต่อนุบาล - ประถม - มัธยมต้น - มัธยมปลาย


จวบจนถึงจบอุดมศึกษา บางคนโชคดีสามารถค้นพบความถนัดในตัวเองได้เร็วกว่าคนอื่น หรือหากโชคดีกว่านั้นบางคนเริ่มมีอุดมการณ์ เริ่มมีความคิดที่อยากเป็นและอยากทำในสิ่งที่อยากทำจริง ๆ จัง ๆ อย่าง "โบ้ท" ตัวละครที่ผมสุดจะอิจฉาในการค้นพบที่ยิ่งใหญ่...



การอยากเรียนประมงของโบ้ทสะท้อนให้เห็นว่า


"เขาอยากจริง ๆ" ซึ่งไม่ใช่ความอยากตามกระแส หรืออยากแบบฉาบฉวย อย่างเช่นที่เราอยากเรียนนิเทศฯ เพราะอยากเป็นดารา อยากเรียนวิศวะเพราะเงินดี อยากเรียนบัญชีเพราะจบมาก็มีองค์กรหน่วยงานมากมายคอยรองรับ เหมือนกับที่พ่อแม่ของโบ้ทกำลังเป็น อาจด้วยหวังดีกับลูกชายหัวแก้วหัวแหวน



ซึ่งผลลัพธ์ของความอยากฉาบฉวยแบบนี้นั้น


เราอาจจะมารู้ตัวอีกทีว่ามันไม่ใช่ทางของเรา และไม่ใช่ตัวเราจริง ๆ ซึ่งสายเกินไป และอาจต้องมาเริ่มต้นค้นหากันใหม่หรือโชคร้ายกว่านั้นอาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิตค้นหามัน แต่หากไม่เดือดร้อนอะไรมากนัก บางคนก็เลือกที่จะไม่พยายามต่อหรือเลิกค้นหาและยอมรับตัวเอง และพร้อมจะใช้ชีวิตไปตามครรลองที่ควรจะเป็น มีงานทำ มีกิน มีใช้ มีเก็บ ไม่เป็นหนี้ แค่นี้ก็คงเพียงพอแล้ว



สาระที่ได้จาก Final Score ยังมีให้เก็บอีกมาก


นั่นอาจจะเป็นผลมาจากการเป็นหนังเรียลลิตี้ หรือหนังสารคดี (ชีวิต) ที่ไม่ได้เมค (เฟค) ขึ้นมา (หรือต่อให้เมคขึ้นมาหน่อยก็ไม่ซีเรียส) นอกจากนี้หนังยังมีประเด็นของระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เคยสะดุดล้มอย่างไม่เป็นท่า (A-Net , O-Net) ซึ่งไม่ขอพูดหรือกล่าวถึง

ด้วยเหตุว่าส่วนตัวไม่รู้จริงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพียงแต่เห็นในหนังแล้วก็เครียดแทน เช่นผลสอบที่ออกมาเกิดความผิดพลาดได้อย่างไร และเชื่อแน่ว่าอารมณ์เด็ก ณ ตอนนั้นคงราวกับดิ่งเหวแน่นอน


สรุปแล้ว Final Score มีดีที่สาระตามแต่จะเก็บได้มากน้อย


แถมยังพาย้อนรำลึกถึงสิ่งที่คนส่วนใหญ่เคยผ่านมาจากจุดของหนัง เหมือนออกมานั่งดูตัวเอง มีเหมือนก็เยอะ แตกต่างไปบ้างก็มี เป็นหนังครอบครัวที่ดีเรื่องหนึ่ง ที่ลูก ๆ ควรชวนพ่อแม่ผู้ปกครองมาดู ให้รู้ว่า ...

เป็นวัยรุ่น...มันเหนื่อย (เหมือนกันนะ).




ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์