ก่อนเป็นตำนาน สมเด็จพระนเรศวร

ภาพยนตร์ "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ที่ทุ่มทุนสร้างถึง 700 ล้านบาท กำลังเป็นที่สนใจของคอหนังและผู้สนใจประวัติศาสตร์


โดยเฉพาะในเมื่อมีการนำเอาประเด็นเรื่อง "ความรักชาติ" เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ที่น่าสนใจคือ ขณะที่ภาพยนตร์ที่จะมีทั้งหมด 3 ภาคหรือไตรภาค เริ่มเข้าฉาย ก็ได้มีการตั้งวงเสวนา อภิปราย

ปัญหาทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรฯ รวมไปถึงเรื่องราวของประเทศพม่ากันอย่างคึกคัก


หากมองภาพรวมข้อเสนอ เนื้อหาสาระการอภิปรายจากเวทีเหล่านี้


จะได้ข้อสรุปประการหนึ่งว่า

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในยุคสมเด็จพระนเรศวรฯ ยังมีหลายประเด็นที่ยังต้องการข้อมูลเพิ่ม อันเป็นลักษณะของประวัติศาสตร์ ที่จะต้องค้นคว้าหาข้อมูลหลักฐานใหม่ๆ ตลอดเวลา

ในขณะที่ภาพยนตร์จะเล่าเรื่องไปอย่างไม่ติดขัด

มีการหาเหตุผลมาอธิบายปรากฏการณ์บางอย่างที่ยังไม่สมบูรณ์ในทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ในแง่ของภาพยนตร์

ภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ

น่าจะเป็นโอกาสให้คนไทย ได้ทำความเข้าใจเรื่องราวของพม่า อันเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ "รู้จัก" กันมาหลายร้อยปีอีกด้วย


การอภิปราย "พม่ากับไทย : เพื่อนบ้านที่ไม่รู้จักกัน"


เมื่อวันที่ 25 มกราคม ช่วยเปิดมุมมองของผู้ฟังเกี่ยวกับตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ ให้กว้างขวางขึ้นไปอีก

ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่า อภิปรายในเวทีนี้ตอนหนึ่งว่า

ภาพยนตร์แนวประวัติศาสตร์ของม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล เรื่องนี้ มีกรอบระยะเวลาของประวัติศาสตร์ยาว 8 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2106-2114 เท่านั้น และต้องการให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในประวัติศาสตร์พม่าในยุคหงสาวดีด้วย


หากถามว่าบทบาทของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่โลดแล่นบนแผ่นฟิล์ม


สอดคล้องกับประวัติศาสตร์หรือไม่ คงต้องย้อนไปดูเมื่อพ.ศ.2106 ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือขณะนั้นคือ "องค์ดำ" ต้องเสด็จไปเป็นองค์ประกันที่กรุงหงสาวดี และผนวชเป็นเณรในพม่า

กรณีผนวชเป็นเณรในพม่า

ไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าบวชจริงหรือไม่ หรือหากอ่านจากพงศาวดารของต่างชาติ ตามคำให้การของเชลยศึกจะพบว่ามีบันทึกระบุว่า องค์ดำ ถูกนำตัวไปพม่าในปีพ.ศ.2112


ดังนั้น ก็หมายความว่า


องค์ดำ อยู่ในพม่าได้เพียง 2 ปีเท่านั้นก็เสด็จกลับสยามประเทศ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้อาจไม่ตรงกับส่วนอื่น

ส่วนข้อสงสัยในตัวบุเรงนอง

หรือพ่ออยู่หัวบาเยงนองกะยอดินนรทา แห่งกรุงหงสาวดี พุกามประเทศ ว่ามีเชื้อสายพม่าโดยแท้หรือมีเชื้อสายมอญ ส่วนนี้ ดร.สุเนตรยืนยันว่า บุเรงนอง เป็นพม่าโดยแท้ ไม่ใช่มอญ อย่างที่หลายฝ่ายเคลือบแคลง


และความสัมพันธ์ระหว่างบุเรงนองกับประวัติศาสตร์ไทย


คือการยกทัพมาตีไทย 2 ครั้ง ในพ.ศ.2106 และพ.ศ.2112 ส่วน นันทบุเรง หรือมังไชยสิงหราช โอรสของพระเจ้าบุเรงนอง เป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ของพม่า รวมถึง มังสามเกียด โอรสของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ก็เป็นคำในภาษามอญ มอญใช้เรียก ซึ่งพม่าเรียกตามมอญ

ดร.สุเนตร ให้ความเห็นว่า

ฉากสำคัญในภาพยนตร์เรื่องนี้ คือฉากในราชสำนักหงสาวดี เพราะเป็นฉากที่ต้องสร้างให้พระมหากษัตริย์มีความเข้มแข็ง น่ายำเกรง สร้างฉากให้ราชอาสน์ของบุเรงนองเข้มแข็ง

ฉะนั้น เพื่อเป็นหลักประกันเรื่องนี้

ฝ่ายหญิงที่ถูกส่งตัวมายังกรุงหงสาวดีจะต้องเป็นมเหสีของบุเรงนองทั้งสิ้น ซึ่งพระสุพรรณกัลยาก็เป็น 1 ในจำนวนนี้

"บุเรงนอง ทำเช่นนี้ก็เพื่อให้เป็นระบบควบคุมความจงรักภักดี

และความสัมพันธ์ในระบบการเมืองยุคนั้น แต่จุดอ่อนประการสำคัญของ "หงสาวดี" ก็คือพระมหากษัตริย์ เมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคต บ้านเมืองก็ล่มสลาย" ดร.สุเนตร กล่าวโดยสรุป


แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ ต้องมีและต้องสร้าง คือ วีรบุรุษ วีรสตรี


ในที่นี้ ดร.ชาญวิทย์ เปรียบวีรบุรุษวีรสตรีไว้ว่าเป็นประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมที่ต้องสร้าง ในบางครั้งเรียกว่า "ปลุก" เช่น ปลุกใจเสือป่า ในสมัยราชาธิปไตยรัชกาลที่ 6 โดยยึดเรื่องชาติเป็นหลัก และหลังจากนั้นยังมาปลุกในประเด็นคล้ายกันให้ตื่นอีก ในสมัยรัฐธรรมนูญ คือรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม


ดร.ชาญวิทย์ยังมองว่า


ภาพลักษณ์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นกรณีศึกษาที่ดี ที่สะท้อนให้เห็นถึงการเดินทางของภาพลักษณ์นี้ นับแต่ภาพลักษณ์ของพระนเรศราชาธิราชหรือภาพลักษณ์ของนักรบที่เข้มแข็ง ดุดัน เด็ดขาด

เช่น สั่งเผาฝีพายเรือของพระองค์ 1,600 คน จนกลายเป็นบทเรียนหรือตัวอย่างของวีรกษัตริย์ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ หรือเมื่อ 200 ปีที่ผ่านมา


หัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของการผลิตซ้ำภาพลักษณ์ของพระนเรศวร


"อยู่ที่ภาพเขียนบนผนังในวิหารของวัดสุวรรณดาราราม จ.พระนครศรีอยุธยา ภาพ 14 ภาพ ถูกนำมาผลิตซ้ำด้วยระบบการพิมพ์ ทำให้คนไทยตรึงตาและติดใจอยู่กับภาพ

เช่น ภาพทรงตีระฆัง ทรงเล่นชนไก่กับมังสามเกียด ทรงปล้นค่ายพม่า เป็นต้น แต่เหนือภาพใดๆ คือภาพบนประตูตรงข้ามพระประธาน เป็นภาพทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา"


ดร.ชาญวิทย์ ส่งท้ายบทสรุปไว้ว่า


นี่เป็นแม่แบบของการเขียนและการผลิตซ้ำประวัติศาสตร์ว่าด้วยกรุงศรีอยุธยา กับวีรบุรุษสมเด็จพระนเรศวรฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน มีการสร้างอนุสาวรีย์ของพระนเรศวรมหาราชอย่างกว้างขวาง แพร่หลายไปทุกภาค


สมเด็จพระนเรศวรฯ ถูกนำมาเสนอแล้วเสนออีก


ในภาพที่เป็นทั้งวีรบุรุษสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ และสถาบันทหาร ทั้งที่มาในรูปของงานวิชาการ ประวัติศาสตร์ สื่อบันเทิง

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

อาจเป็นพรมแดนระหว่างเรื่องจริงหรืออิงนิยาย ซึ่งได้รับความนิยมและสืบทอดกันมาในรูปลักษณ์ต่างๆ รวมถึงรูปแบบการ์ตูนสุดฮิตของเยาวชนในยุคนี้



ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ข่าวสด


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์