Contemporary อินทรีแดง การขานรับ message ของยุคสมัย

แม้จะมีการยอมรับจากผู้เขียนจริงๆ ว่า แนวคิดของ "อินทรีแดง" นั้น มาจากเรื่อง captain lightfoot แต่เมื่อ "ซูเปอร์ฮีโร่"

ตัวหนึ่งซึ่งมีอายุอานามมากกว่า 50 ปี (นับตั้งแต่เป็นหนังสือ) เสียแล้ว

 นั่นก็หมายความว่า คาแรคเตอร์คลาสสิกนามนี้ ย่อมสร้างความชอบธรรม (rightiousness) และเปิดกว้างให้กับผู้สร้าง ว่าเขาจะสามารถตีความหรือ interpretation เรื่องราว อุปนิสัยของตัวละคร รวมทั้งเปลี่ยนสถานะทางสังคมไปได้ ตามบริบทของยุคสมัย


 การเปลี่ยนสถานะตัวละครนั้น ดูง่ายๆ ได้จากบทของ "วาสนา" (ญารินดา บุนนาค) ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ที่ยุคแรกเป็น "สาวแบงก์" แล้วกลายเป็น "นักข่าวสาว" ก่อนจะกลายมาเป็น NGO ที่ต่อสู้เพื่อชาวบ้านจริงๆ ในภาคล่าสุด


 ไม่ใช่เธอคนเดียว แม้แต่ศัตรูหรือเหยื่อของอินทรีแดง ยุคแรกก็เป็นพวกตัดไม้ทำลายป่า มาถึงตอนนี้ ก็เป็นพวกนักการเมืองที่ใส่สูท สร้างความฉิบหายให้กับประเทศ ซึ่งมาในนามของพวกมาตุลี และแน่นอนว่า จากฮีโร่เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว มุมที่ละเอียดอ่อนอย่างหนึ่งซึ่งถูกใส่เข้าไปในตัว "อินทรีแดง" ก็คือ การที่ฮีโร่มี "ปมในอดีต"(historical clues) ที่ติดตามมา


 ซึ่งการให้ปมบางอย่างนี่เอง เป็นความร่วมสมัยตามสไตล์ของฮีโร่ตะวันตกที่เรามักจะพบในสารพัดแมนต่างๆ สำหรับคนทำหนังบางคนนั้น การใส่ปมลงไป ไม่ได้ถูกนำไป "ใช้ต่อ" ให้เกิดประโยชน์กับพล็อต ทว่า กับ วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง คนทำหนังระดับจอมยุทธ์อีกคนของบ้านเรา เขาไม่ทอดทิ้งประโยชน์ของปม


 หนำซ้ำ เมื่อพล็อตเล่าเรื่องไป จะเห็นว่าปมหรือบาดแผล อย่างกระสุนที่ฝังไว้ในตัวหรือความหลังนั้น ก็ถูกนำมาใช้สะท้อนพฤติกรรมต่อกันและกัน (เช่น ใช้ความรุนแรงดับความรุนแรง)


 แต่สิ่งเหล่านี้ ก็อาจจะไม่มีในหนังอินทรีแดงภาคต่อๆ ไปในมือของคนอื่นๆ เพราะอย่างที่บอก โรม ฤทธิไกร จะเป็นอย่างไรนั้น ไม่ใช่ว่า อินทรีแดง จะต้องเป็นด้านนั้นไปด้วย ฉะนั้น คนที่จะดูหนังเรื่องนี้ จะต้องลบความทรงจำอะไรหลายอย่างออกไปก่อน และตั้งต้นใหม่...อีกครั้งกับ อินทรีแดง ของผู้กำกับที่เคยทำหนังอย่าง ฟ้าทะลายโจรเอย หมานครเอย เป็นชู้กับผีเอย ที่ต้องออกตัวแบบนี้


 เพราะว่าอินทรีแดงของ วิศิษฐ์ แตกต่างไปจาก โรม ฤทธิไกร อื่นๆ ก่อนหน้านี้ การจะสำรวจอินทรีแดง 2010 จึงมีความจำเป็นอยู่บ้าง ที่จะต้องเอา "กรอบ" ของผู้กำกับมามองตามทฤษฎี director theory อาทิเช่น สไตล์การเล่าเรื่อง, การให้ความสำคัญกับสี, การหักมุม, มิติทางการเมือง และอะไรต่อมิอะไร ซึ่งสะท้อน "จุดร่วม" ของผู้กำกับเอง ก่อนจะเข้าโรงดูหนังเรื่องนี้เมื่อคืนวันจันทร์นั้น ผมคิดเหมือนกับที่เคยเขียนว่า อินทรีแดงจะขายอะไร จะมาในรูปของอะไร ท่ามกลางยุคสมัยที่ซูเปอร์ฮีโร่เกลื่อนกลาดไปหมด และเป็นของปลอมเกือบทั้งหมดเช่นกัน


 เขาจะใช้สไตล์เล่าเรื่องแบบไหน ท่ามกลางวงล้อมของอะไรที่เร็วๆๆๆๆๆ ตลอดเวลา ลืมภาพของ อินทรีแดงเมื่อ 40 ปีที่แล้วไปเลย เพราะฮีโร่หน้ากากแดงปีนี้ มาด้วยสไตล์ที่รวดเร็ว ราวกับสปีดความเร็วที่แรงกว่ามอเตอร์ไซค์คู่ใจ การตัดต่อหวือหวาฉับไวกว่ามิวสิควีดิโอ และเมื่อยัดซาวนด์โครมครามเข้าไป ก็เท่ากับว่า นี่คือหนังในแนวทางของการใช้ spectacles อย่างเต็มเหนี่ยว ทั้งความรุนแรงสาสม และการที่คนดูถูกอัดใส่ตลอดสองชั่วโมง


 สิ่งที่ วิศิษฐ์ ติดมาจากหนังเรื่องก่อน เพราะเป็นตัวตนของเขาด้วยก็คือ มิติทางสังคมการเมืองที่ผมชอบมุมมองของเขา อีกอย่างคือสไตล์การเล่าเรื่องฉับไว แต่ส่วนที่เพิ่มเข้าไปคือ spectacles นั้น ผมไม่ชอบ เพราะรู้สึกว่ามันถูกใช้มากเกินไป แม้จะเข้าใจได้ว่า ทำไมเขาจะต้องพาหนังมาทางนี้ อีกอย่างหนึ่งที่ผมไม่ชอบคือ ความรุนแรงในหนัง (ที่เขาต้องการเล่นกับปมในตัวละคร) นี่คือสองอย่างที่ไม่เห็นด้วย และไม่ชอบ


 ส่วนที่น่าทึ่งก็คือ หนังสามารถแบกรับและรับลูกจากยุคสมัยก่อนๆ ของอินทรีแดง มาเล่นต่อได้อย่างลื่นไหล พูดง่ายๆ คือ วิศิษฐ์ ได้แสดงความเคารพต่อตำนาน และไม่ทำให้การเพิ่มอะไรเข้าไป กลายเป็น "สิ่งลักลั่น" ในตัวฮีโร่ ขณะที่บรรยากาศของหนัง ถูกนำเสนอให้แตกต่างกันอย่างสุดขั้วในสองส่วน (โลกของ โรม กับโลกของมาตุลี) บทหนังมีการตีความ สิ่งที่ อินทรีแดงเป็นอยู่


 เช่นเขาเป็นฮีโร่จริงๆ หรือเป็นเพียงพวกคนที่ "เสพติด" ความรุนแรง ความตาย (ผ่านมอร์ฟีนที่เลิกไม่ได้) จนบางทีบางครั้ง คนรักอย่าง วาสนา เองต้องออกปากว่า ถ้าฮีโร่ยังช่วยตัวเองไม่ได้ แล้วจะไปช่วยใครได้อย่างไร การให้ภาพของ "ศาลเตี้ย" นั้น ทำให้อินทรีแดง ดูเป็นมนุษย์มากขึ้น และเป็นฮีโร่น้อยลง ทั้งยังแสดงลักษณะของขนบอย่างหนึ่งคือ irony ตัวละครเสีย ด้วยการให้เห็นด้านที่ปวดร้าว เปราะบางของอินทรีแดง ที่ไม่ใช่อะไรซึ่งสังคมมักเรียกว่า perfectionist


 ถ้าดูจากสิ่งที่หนังแสดงออกมานั้น แม้ว่าอินทรีแดงจะมีข้อบกพร่องให้เห็นในบางส่วน แต่โดยภาพรวม ต้องถือว่า นี่คือหนังแอ็คชั่นไทยที่สอบผ่าน โดยที่ตัวหนังเองก็ต้องรับเอาคำแดกดันเรื่องการลอกเลียน ฉากแอ็คชั่นของหนังต่างประเทศไปด้วย อะไรคือสิ่งที่น่าทึ่งล่ะ


 อย่างแรก การแสดงของบท วาสนา ของ ญารินดา บุนนาค เธอไม่ต้องออกมาหน้าจอมากๆ เหมือนคาแรคเตอร์อื่นๆ การความขรึมขลัง การเคลื่อนไหวของตัวละคร ทำให้คนดูเชื่อว่า เธอคือนักต่อสู้เพื่อสังคม โดยมีสัมผัสหวานๆ ในการเป็นคนรักของ โรม อยู่ในตัวด้วย ญารินดา ขับเน้นเอาด้านที่อ่อนหวานแต่เข้มแข็ง ด้านที่ผิดหวังปวดร้าว ออกมาให้คนดูได้เมื่อหนังต้องการจากเธอ อย่าแปลกใจ ถ้าสิ้นปี ชื่อของ ญารินดา จะเป็น 1 ใน 5 เคียงข้างสาขานำหญิง คู่กับหนูนา กวนมึนโฮ หรือคุณพลอย เฌอมาล์ย ใน "ชั่วฟ้าดินสลาย" รวมทั้งนางเอกสาวซนจาก "สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก"


 อย่างที่สองคือ บทภาพยนตร์ แม้จะ "รับลูก" มาจากยุคสมัยเก่าก่อน แต่บทหนังเพิ่มสิ่งต่างๆ จนกลายเป็นอินทรีแดงที่ "ร่วมสมัย" ทั้ง stylization และ mood ของหนัง อันที่จริง นักแสดงในหนังเรื่องนี้ เล่นดีกันหลายคน ทั้งมือใหม่และมือเก่า แต่บางอย่างที่ถูกมองข้ามหรือมองไม่เห็น เกิดจากเอฟเฟคท์ของ spectacles ที่เยอะเกินของหนัง (ฉากที่ต่อสู้ในกลางตลาด ไม่มีความจำเป็นอันใดในความรู้สึกของผม)


 แม้จะมีส่วนที่ไม่ชอบอยู่ แต่นี่คืออินทรีแดงที่คนไทยน่าไปดูกัน โดยต้องเผื่อไว้บ้างกับฉากที่รุนแรง หากว่ามองข้ามส่วนนี้ไปแล้ว การค้นหาจุดร่วมจากผลงานของ วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง อาจจะเป็นเรื่องสนุกอีกทาง ถ้าได้ดูหนังของเขาทุกเรื่องมาก่อนหน้านั้น เรื่องที่น่าเสียดายนั้นมีอยู่สองเรื่อง


 อย่างแรก ถ้าสังคมไทยจะขาดมนุษย์แบบอินทรีแดง ที่คอยปกป้องความดี ดูแลสุขทุกข์ให้กับสังคม (ในยุคที่ผู้นำและเจ้าหน้าที่ล้วนเล่นจ๊อบนอกกันถ้วนหน้า)  


 อย่างที่สอง แม้ โรม ฤทธิไกร จะยังทำงานของเขาต่อไป แต่ วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง ประกาศแล้วว่า เขาจะเลิกทำหนัง
 นี่คือสิ่งที่ "น่าเสียดายที่สุด"


 และ อินทรีแดง ก็ช่วยอะไรไม่ได้

ที่มา

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/movie-music/20101008/356680/Contemporary-อินทรีแดง-การขานรับ-message-ของยุคสมัย.html

*****


น่าเสียดายอ่ะเพราะไปดูอินทรีแดงมาแล้วก็เป็นหนังดีมากๆ เลยอ่ะ น่าจะทำต่ออีก



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์